วันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

“สมัคร” ถึงแก่อนิจกรรมที่บำรุงราษฎร์ ด้วยโรคมะเร็งตับ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 8.45 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบแล้วด้วยโรคมะเร็งตับ ด้วยวัย 74 ปี โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์เป็นระยะเวลานาน

หากมีรายละเอียดความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป…

ปิดฉาก “สมัคร สุนทรเวช” 1

นายสมัคร สุนทรเวช เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2478 หน้าวังบางขุนพรหม ริมถนนสามเสน เป็นบุตรของนายเสมียน สุนทรเวช ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น เสวกเอกพระยาบำรุงราชบริพาร และคุณหญิง บำรุงราชบริพาร เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลานตาของมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำสำนัก

ประวัติการศึกษา ช่วงก่อนประถม ศึกษาที่ โรงเรียนสตรีบางขุนพรหม จากนั้นจึงมาต่อที่โรงเรียนเทเวศน์ศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ และเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ ยังศึกษาเพิ่มเติม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,BRYANMT &STRATION INSTITUTE ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร – ประกาศนียบัตร A.C.C. (โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์) นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศนียบัตรวิชามัคคุเทศก์ (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) Dip. in Accounting and Business Administration

เกลียดนสพ.แต่เป็นคอลัมน์นิสต์
หลังจบนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แล้วได้หันไปเขียนบทความและความคิดเห็นทางการเมือง ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และเขียนไปถึง พ.ศ. 2516 และเคยทำหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ ที่ต่อมาได้ปิดตัวไปในที่สุด เข้าสู่แวดวงการเมืองเต็มตัว เมื่อปี 2511 โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และลงสมัครเลือกตั้งในระดับต่างๆ ไล่มาจนถึงระดับท้องถิ่น

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง อาทิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมทั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
เป็นไม้เบื่อไม้เมากับบรรดาคอลัมน์นิสต์หลายฉบับ เพราะไม่พอใจที่สื่อมวลชนจับจ้องวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขาอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยใช้สายตาและวาจาดุดัน สะกดบรรดานักข่าวที่ติดตามทำข่าวจนทุกคนแหยงไปตามๆกัน

ฉายา “เซลส์แมนฝันเฟื่อง”
ความที่เป็นคนชอบแสดงความคิดเห็น ชอบพูด สื่อมวลชนจึงเคยตั้งฉายาให้ว่า เซลส์แมนฝันเฟื่อง ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่เคยมีอาชีพนี้มาก่อน แต่เคยรับตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายขาย ของบริษัท จอห์นเดียร์ไทยแลนด์ จำกัด เป็นมาแล้วทั้งพนักงานสอนเครื่องลงบัญชีไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ออกของที่ท่าเรือและศุลกากร เสมียนแผนกรถยนต์ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกอะไหล่รถยนต์ ผู้จัดการแผนกอะไหล่ ผู้บริหารฝ่ายขาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถานเอกอัครราชทูต สมาชิกสภาเทศบาล

ตำนานรักฉบับประหยัด
เจ้าตัวเคยเผยวิธีการเลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตยให้สิทธิได้แสดงความคิดเห็นทุกฝ่าย
ปล่อยฟรีสไตล์วิจารณ์ข่าวหลังมื้อเย็น แต่งงานกับคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่มีอุปนิสัยค่อนข้างเก็บตัวและเป็นข่าวน้อยมากในแวดวงสังคมแบบฉบับผู้อยู่หลังบ้านที่ดีในขณะที่สามีเป็นข่าวบนหนังสือพิมพ์โดยตลอด นายสมัครเคยพูดถึงภรรยาไว้ในหนังสือการเมืองเรื่องตัณหา ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติสมัคร สุนทรเวชโดย myst-man นำมาโพสต์ไว้ในเว็บไซต์ พันธ์ทิพย์
ว่าไปพบรักกับภรรยาที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยขณะนั้นตนเองเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ส่วนคุณหญิงสุรัตน์เรียนอยู่ทีคณะบัญชี… ผมเรียนกฎหมาย คุณเธอเรียนบัญชี……ถึงตอนนี้ผมอยากจะขออนุญาตเล่าลงไปให้ถึงรายละเอียดสักนิดเพื่อให้ไอ้บรรดาคอลัมนิสต์ เลวชาติ ทั้งหลายมันได้รู้กันว่าคนอย่างผมนั้นเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากความไม่มีอะไรโดยไม่ต้องทุจริตคดโกงอย่างที่พวกมันหลับหูหลับตาคิดกันอย่างไร…หลังจากที่รักใคร่ชอบพอกันแล้ว สมัคร ก็ตัดสินใจขอหมั้น คุณหญิงสุรัตน์ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ โดยสัญญากันเป็นหมั่นเหมาะว่าหากเรียนจบกลับมาแล้วค่อยแต่งงานกัน
…ผมตกลงกันว่า เรียนหนังสือเสร็จแล้ว ผมจะทำงานเก็บเงินเพื่อให้คู่หมั้นผมบินไปแต่งงานกันที่โน่นแต่แล้วด้วยความที่ไม่ต้องการให้เกิดการสิ้นเปลืองจากเดิมที่วางไว้ว่าจะไปทำพิธีแต่งงานที่สหรัฐฯก็ได้เปลี่ยนแผนมาแต่งที่ญี่ปุ่นแทน เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าโดยทั้งคู่จัดพิธีแต่งงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
มีท่านอุปทูตเป็นประธาน เมื่อปี 2511

ลูกสาวฝาแฝด
นายสมัคร มีบุตรสาวฝาแฝด คือ นางกาญจนากร (สุนทรเวช) ไชยสาส์น จบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC / MBA. มหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ด USA. CONN.ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายการเงินของ ป.ต.ท. (สผ.) และ น.ส.กานดาภา สุนทรเวชจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / MBA.มหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ด USA.CONN. ปัจจุบันทำงานกระทรวงการต่างประเทศ

ผู้ว่ากทมฯที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด
ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครในปี 2542 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

หลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. นายสมัคร ยังหันมาเอาดีด้านสื่อ โทรทัศน์ ด้วยการเป็นผู้ดำเนินรายการอาหารชื่อดัง “ชิมไปบ่นไป” แต่ที่ฮือฮาที่สุดคือการรายการ “สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ซึ่งจัดร่วมกับนายดุสิต ศิริวรรณ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีใน “รัฐบาลหอย” ธานินทร์ กรัยวิเชียร

ปากเป็นเหตุ…
ในการจัดรายการดังกล่าวทั้งคู่ กล่าวโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กระทั่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากและสุดท้ายรายการก็จำเป็น ต้องปิดตัวลง แต่ไม่นานพิษจากรายการดังกล่าวยังตามมาเล่นงาน โดยผู้ดำเนินรายการทั้งสองต้องตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากกรณีพูดพาดพิงนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และศาลมีคำพิพากษาสั่งจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เส้นทางการเมืองยังคงหอมหวนเสมอสำหรับนายสมัคร โดยตัดสินใจลงเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา กทม. ในปี 2549 ซึ่งก็ได้รับเลือกตามคาดหมาย แต่ยังไม่ทันที่จะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจาก กกต. เนื่องจากมีคำร้องคัดค้าน และไม่นาน กกต.ชุดดังกล่าวก็ถูกศาลตัดสินให้พ้นสภาพ กระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เสียก่อน

โผล่คว้าเก้าอี้หัวหน้าพปช.
หลังจากนั้นเจ้าตัวได้หายหน้าไปจากแวดวงการเมืองพักใหญ่จนเชื่อว่า นายสมัครจะปิดฉากชีวิตทางการเมือง แต่ เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ทาบให้นายสมัครมาเป็นหัวหน้าพลังประชาชน หลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบและพ.ต.ท.ทักษิณต้องระหกระเหินไปอยู่ประเทศอังกฤษ โดยพ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า มีความเหมาะสมเนื่องจากนายสมัครมีความจงรักภักดี ในขณะที่ตัวพ.ต.ท.ทักษิณถูกกล่าวหาว่า ไม่จงรักภักดี แต่อีกเหตุผลหนึ่งเชื่อกันว่านายสมัคร เป็นบุคคลคนเดียวที่กล้าต่อกรกับ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ตามนิยามของพ.ต.ท.ทักษิณ

เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจ
ในที่สุดนายสมัครก็ได้นั่งเก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารที่เขาใฝ่ฝันมาทั้งชีวิต เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย
แต่ใช่ว่า เก้าอี้นายกรัฐมนตรีจะนุ่มนวลดั่งฝัน เพราะวิบากกรรมที่นายสมัครได้ทำไว้ขณะดำรงผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งนายสมัครลงนามในสัญญาจัดซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์ดับเพลิงมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทในวันสุดท้ายก่อนที่จะพ้นตำแหน่ง เป็นผลให้นายสมัครถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)สอบสวนในเวลาต่อมาและถูกแจ้งข้อกล่าวว่า ทุจริตในการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าว

ช้ำใจฉายา นายกฯนอมินี
เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายสมัครจึงมีอุปสรรคมาตลอด ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันว่า เป็นนายกฯที่ไร้อำนาจที่แท้จริง เนื่องจากคนคุมทิศทางการทำงานในพรรคพลังประชาชนและรัฐบาลยังเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการแย่งชิงตำแหน่งจากกลุ่มก๊วนต่างๆ ในพรรคพลังประชาชน ถนนทุกสายต่างมุ่งตรงไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้ช่วยชี้ขาดหรือผลักดันให้เป็นรัฐมนตรี

เมื่อสภาพเป็นเช่นนั้นายสมัครจึงแทบไม่มีอำนาจในการควบคุมกลุ่มแก๊งค์ต่างๆที่อยู่ ในสภาได้เลย

ชอบทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ
นายสมัครเคยเล่าไว้อย่างน่าสนใจในหนังสืออนุสรณ์ครบรอบอายุ 60ปีถึงต้นสายปลายเหตุที่ตัวเองชอบเข้าครัวทำกับข้าวว่า “ตอนที่ผมอายุ 3 ขวบ และคุณแม่ยังอยู่ในบ้านคุณตานั้น บ้านผมยังมีคนใช้ มีพี่เลี้ยง คนที่เป็นพี่เลี้ยงผมนั้นมีหน้าที่เป็นแม่ครัวด้วย เพราะยังงั้นตั้งแต่ผมยังเดินไม่ได้ ผมก็เริ่มถูกแม่ครัวอุ้มเข้ากระเอวเอาไปตลาดด้วยแล้ว เมื่อโตเดินได้แล้ว ผมจึงมักจะเดินตามคนเลี้ยงไปตลาดด้วยบ่อยๆ ที่ยังจำได้จนถึงวันนี้และได้เก็บเอามาสอนลูกตัวเองเวลาไปตลอด”

ไปตลาดบ่อยจนรู้ว่าอะไรขายที่ไหน คนอื่นไปหาซื้อไม่ได้ แต่พ่อครัวสมัครจัดการได้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขายังไม่ทิ้งนิสัยพ่อครัว หัวป่า และหันมาเป็นพิธีการายการ “ชิมไป บ่นไป”ในขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว นายสมัครก็ใช้ช่วงเวลาวันหยุดไปจัดรายการดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นเหตุให้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาและคณะได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในการรับจัดรายการ “ชิมไป บ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกันของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

อาหารเป็นพิษหลุดเก้าอี้นายกฯ
ในวันที่ 9 กันยายน 51นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และคณะได้ออก นั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยว่า การจัดรายการ “ชิมไป บ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ของนายสมัครนั้นมุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ถือได้ว่าขัดรัฐธรรนูญ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยมติเอกฉันท์ 9-0 ส่งผลให้นายสมัครต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที

แก้ไขล่าสุด (วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2009 เวลา 04:55 น.)



วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ไทม์ออนไลน์: ทักษิณ ชินวัตรกับบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม

Thaksin Shinawatra: the full transcript of his interview with The Times
November 9, 2009
ที่มา – Times Online
แปลและเรียบเรียง – แชพเตอร์ ๑๑

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่ บรรณาธิการของไทม์ด้านเอเชีย สัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่กำลังลี้ภัยที่บ้านของเขาที่นครดูไบ

ทักษิณ ชินวัตร: (ชัยชนะจากการเลือกตั้งของผมในปี ๒๕๔๔) ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พรรคการเมืองเพียงพรรค เดียวชนะคะแนนครึ่งหนึ่งของที่นั่งในสภา เราชนะอย่างท่วมท้น – ครึ่งหนึ่งของที่นั่งในสภา – เราจัดตั้งรัฐบาลร่วมขึ้นมา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกเช่นกันที่เราได้บริหารประเทศครบสี่ ปีโดยสภาไม่ถูกยุบ และเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ว่านายกรัฐมนตรีได้รับการเลือก ตั้งสมัยที่สอง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งเราได้รับชัยชนะกวาดที่นั่งถึง ๓๗๗ ที่นั่ง และจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องมีพรรคร่วม – ร้อยละ ๗๖ ของที่นั่งในสภาในเวลานั้น

และนั่นก็เริ่มสร้างปัญหาให้กับผม – เพราะผมมีชื่อเสียงมากเกินไป ประชาชนรักผมมากเกินไป นั่นแหละที่มาของปัญหา

คน ของผมบางคนได้เตือนว่า สื่อจะเริ่มโจมตีผมนะ – เพราะฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอมากดังนั้นสื่อต้องอยู่กับฝ่ายตรงข้าม ตอนนั้นผมไม่เชื่อ แต่สุดท้ายผมเห็นว่าสื่อโจมตีผมอย่างไม่มีเหตุผลใดๆ วันหนึ่งผมเผอิญพบกับลูกชายของเจ้าของหนังสือพิมพ์ ผมถามเขาว่า “ถามคุณพ่อคุณหน่อยซิว่า ทำไมหนังสือพิมพ์ของคุณพ่อคุณถึงได้โจมตีผมแบบไม่มีเหตุผลแบบนั้น” เขาตอบผมว่า “ลุงครับ (คำที่ใช้แสดงความเคารพ) ผมทำอะไรไม่ได้หรอกครับ เพราะคุณพ่อโดนองคมนตรีสองคนเกลี้ยกล่อมอยู่ พวกเขามาทานข้าวมื้อค่ำกับคุณพ่อ และพวกเขามาพูดว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ต้องประสงค์ลุงแล้ว” ผมพูดไปว่า ผมไม่เชื่อหรอก – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง อาจจะพวกองคมนตรีเองที่มีความลำเอียงกับผม

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ทำไมพวกเขาจึงมีความลำเอียงกับคุณล่ะ

ทักษิณ ชินวัตร: พวกเขาประโคมข่าวลือว่าผมต้องการเปลี่ยนประเทศไทยเป็นระบบสาธารณรัฐ และตัวผมต้องการเป็นประธานาธิบดี ซึ่งผมไม่เคยมีความคิดเช่นนี้ ผมน่ะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เป็นที่สุด คุณทราบไหมว่า เมื่อผมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกน่ะ ผมได้เข้าเข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์องค์พระเจ้าอยู่หัว ผมกราบบังคมทูลฯ ว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพเจ้ามีความจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งถือกำเนิดในแผ่นดินของพระองค์ ข้าพเจ้าขอกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า – ไม่เพียงแต่ข้าพเจ้าจะเสมือนลูกของพระองค์ – แต่เพราะอายุของข้าพเจ้าใกล้เคียงกับพระชนมายุของพระราชโอรสและพระราชธิดา ของพระองค์ ขอพระองค์ทรงมีพระเมตตาประทานสั่งสอน และตักเตือนข้าพเจ้าอย่างคนในวัยเดียวกันกับพระโอรสและพระธิดาของพระองค์ แม้ว่าข้าพเจ้าจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ตาม พระองค์ทรงครองราชย์มาสามชั่วอายุคน – รุ่นปู่ของข้าพเจ้า รุ่นบิดาของข้าพเจ้า และมาถึงรุ่นข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี สิ่งใดที่ข้าพเจ้าจะต้องปฏิบัติ ขอพระองค์ได้โปรดมีพระเมตตาสั่งสอนข้าพเจ้าด้วย” นี่เป็นคำพูดที่ผมได้เข้าเฝ้า และผมได้กราบทูลฯต่ออีกว่า “พระองค์ทรงงานหนักสำหรับพสกนิกรชาวไทยมาหลายปีแล้ว ขณะนี้พระองค์ทรงมีพระชนมายุมากแล้ว และพระองค์อาจทรงเหน็ดเหนื่อย โปรดให้ข้าพเจ้าได้สนองเบื้องพระยุคลบาท ข้าพเจ้าจะแบกภาระทุกอย่างของพระองค์ และข้าพเจ้าจะทุ่มเททำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพสกนิกรของพระองค์” นั่นเป็นการกราบทูลฯ ครั้งแรกของผม…ต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และ ผมทำงานหนักเรื่อยมาจนได้รับความนิยมมากขึ้นๆ และความนิยมเริ่มสร้างปัญหาให้ผม พรรคประชาธิปัตย์พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามมีความสามารถเป็นพิเศษในการปรักปรำ ผู้คนต่างๆ พวกเขาเริ่มสร้างข่าวลือ และโจมตีผม แม้แต่ตอนที่พวกเขาครองอำนาจ ก็ยังไม่วายใส่ความว่าผมต้องการเป็นประธานาธิบดี เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับชาวไทยเพราะคนไทยรักพระเจ้าอยู่หัว และคนไทยไม่ยอมให้ใครก็ตามมาล้มล้างสถาบันกษัตริย์..

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: นั่นเป็นเพราะคนคิดว่าคุณได้รับความนิยมมากกว่ากษัตริย์หรือ

ทักษิณ ชินวัตร: เมื่อคุณมีลูกชาย ลูกชายรักภรรยา และรักแม่..เป็นความรักคนละแบบ คนรักผมเพราะเขาสัมผัสผมได้ เขาใช้ผมเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเขาได้ แต่สำหรับพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ประชาชนให้ความเคารพต่อพระองค์ดั่งเทพ เป็นความรักคนละแบบ แต่คนพยายามที่จะทำให้เป็นความรักเช่นเดียวกัน นั่นคือปัญหาทั้งหมดอย่างแท้จริง

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ในการเมืองไทย กษัตริย์ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งทรงอิทธิพลมากที่สุด นั่นเป็นเรื่องดีหรือไม่

ทักษิณ ชินวัตร: พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่เคารพอย่างที่สุด ในความรู้สึกของคนไทยแล้วพระองค์ทรงเป็นดั่งเทพ คนไทยไม่เชื่อฟังด้วยกันเอง คนไทยต้องการใครสักคนหนึ่งที่พวกเขาให้ความเคารพอย่างจริงจัง – นั่นก็คือพระเจ้าอยู่หัว แต่บุคคลที่รายล้อมรอบพระองค์ และสมเด็จพระราชินี ซึ่งผมเรียกว่าผู้ใกล้ชิดในวังที่พยายามสร้างอิทธิพล

องคมนตรี ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการที่เกษียณ..พวกเขามีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และต้องการจะสร้างอิทธิพลบางอย่าง อย่างเช่นพล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี) – เขาต้องการให้ใครบางคนเป็น ผบ.ทบ. แต่ถ้าแต่งตั้งคนอื่นขึ้นมา เปรมอาจไม่ชอบใจ นั่นเป็นการแสดงอำนาจซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่ทรงประสงค์ หรือเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด เป็นพวกคนใกล้ชิดในวังซึ่งกำลังเล่นเกมต่างๆ

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: อย่างนั้น พล.อ.เปรม และบุคคลอย่างเขากำลังชักใยอยู่เบื้องหลังกษัตริย์

ทักษิณ ชินวัตร: บรรดาองคมนตรีเป็นเช่นนั้น ไม่เพียงแต่พล.อ.เปรม มีบุคคลอื่นด้วย เช่น นางสนองพระโอษฐ์ และใครก็ตามของสมเด็จพระราชินี สังคมไทยดูใหญ่ก็จริง แต่สังคมศักดินาในกรุงเทพจะอยู่ในวงที่แคบมาก ทั้งอิทธิพล และเครือข่ายอยู่ตรงนั้น นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้การเมืองมีความยุ่งยาก ไม่เหมือนอังกฤษหรือญี่ปุ่น ซึ่งไม่ยอมให้บุคคลเหล่านั้นเข้ามามีอิทธิพลได้

นั่น คือปัญหาในประเทศไทย ปัญหาไม่ใช่ระบบกษัตริย์ ระบบกษัตริย์เป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทย ประเทศไทยต้องการมีระบบกษัตริย์ แต่ไม่ควรถูกคนใกล้ชิดในวังนำมาใช้ในทางที่ผิด หรือสร้างความแปดเปื้อน

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: นั่นคือระบบกษัตริย์เป็นสิ่งที่ดี แต่สถาบันกษัตริย์ต้องมีการปรับปรุง ใช่หรือไม่

ทักษิณ ชินวัตร: ใช่ครับ ใช่

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ควรมีการปรับปรุงอย่างไร

ทักษิณ ชินวัตร: การปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะต้องยึดถือปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ทุกสถาบันต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักทางการเมือง แต่บางครั้งสถาบันเหล่านี้ก็ทรงอิทธิพล ระบบยุติธรรมถูกก้าวก่ายจากผู้ใกล้ชิดในวัง

ประชาธิปไตย อย่างไทยยังพัฒนาไม่ถึงที่สุด ดูเหมือนจะเติบโตแต่ยังไม่เติบโต เพราะการก้าวก่ายของกองทัพซึ่งไม่ควรจะยอมให้เกิดขึ้น ทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร อำนาจอธิปไตยจะโดนควบคุม – ซึ่งไม่ควรยอมให้เกิดขึ้น ประชาธิปไตยควรมาจากการเลือกตั้งเพียงทางเดียว – คุณต้องให้อำนาจต่อประชาชน แต่อำนาจไม่ได้อยู่กับประชาชน การเลือกตั้งเป็นเพียงการรับรองความเป็นประชาธิปไตย คุณต้องใส่ใจกับประชาชน คุณต้องสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน

มัน เป็นการวางแผนเพื่อดึงอำนาจ จริงๆแล้วมีแค่สองฝ่ายเท่านั้น ประชาธิปัตย์ (พรรคประชาธิปัตย์ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และฝ่ายสนับสนุนผม พวกเขาต้องการดึงอำนาจจากฝ่ายสนับสนุนผมไปให้ประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ต้องการอำนาจสองทาง – ซึ่งอำนาจไม่ได้มาจากประชาชน เป็นอำนาจที่ได้มาจากการทรยศของ ส.ส.จากพรรคอื่น

ในประเทศไทยเราเรียกพวกนี้ว่างูเห่า – ประชาชนไม่ไว้ใจพวกงูเห่า งูเห่าสามารถแว้งกัดเจ้าของได้

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: เมื่อเดือนเมษายน คุณได้วิงวอนให้กษัตริย์ (ภูมิพลอดุลยเดช) ทรงลงมาแทรกแซงเพื่อคืนความปรองดองของสังคมไทย คุณยังมีความหวังว่ากษัตริย์จะทรงทำเช่นนั้นหรือไม่

ทักษิณ ชินวัตร: รัฐบาลสร้างความขัดแย้งกับฝ่ายสนับสนุนผม เราเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน ดังนั้นรัฐบาลไม่อยู่ในฐานะที่จะมาแก้ปัญหาใดๆได้ รัฐบาลไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไว้ใจได้ เพราะพวกเขาทำการปล้นอำนาจ พวกเขาแย่งอำนาจไปจากประชาชน

หน ทางเดียวที่รัฐบาลจะเข้ามาเกี่ยวข้องได้ก็คือ รัฐบาลต้องหัดคิดใหม่ในเรื่องการเป็นศัตรูกับคนอื่น แต่รัฐบาลนี้ใจไม่กว้างพอ เพราะรัฐบาลนี้กลัวว่าถ้ามีการเลือกตั้งอีกครั้ง พวกเขาจะแพ้ ผมขอรับรองเลยว่ารัฐบาลนี้จะแพ้การเลือกตั้ง เรา (พรรคเพื่อไทย ของฝ่ายสนับสนุนทักษิณ) กำลังจะชนะอย่างขาดลอยอีกครั้ง นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมรัฐบาลนี้ถึงได้เกาะเก้าอี้อย่างเหนียวแน่นไม่ว่า อะไรจะเกิดขึ้น – พวกเขาไม่ต้องการยุบสภา ผมไม่สนใจหรอก แต่ตอนนี้ประชาชนกำลังเป็นทุกข์ ประเทศกำลังลำบาก – คุณก็เห็นแล้วนี่ ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่ปัญหาเพิ่มขึ้นอีก

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: กษัตริย์จะทรงทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์แบบนี้

ทักษิณ ชินวัตร: จะต้องนำสองฝ่ายมาร่วมกัน และเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ อภัยโทษให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณจะกล่าวอะไรต่อกษัตริย์บ้าง

ทักษิณ ชินวัตร: ผมจะกราบทูลฯว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ถึงเวลาแล้ว ที่พระองค์จะทรงประทานพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทย ขอพระองค์โปรดประทานความสันติสุขให้พวกเขา ให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบโดยวิธีนิรโทษกรรม และการพระราชทานอภัยโทษ เพื่อให้พสกนิกรทุกคนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่”…

พวก เขา (ศัตรูของทักษิณ) พยายามฆ่าผม ได้มีการพบปะกันที่บ้านของคุณปีย์ (มาลากุล) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชินี.. พล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตนายกรัฐมนตรีหลังจากทักษิณถูกปล้นอำนาจจากการทำรัฐประหาร) ได้ขอให้พล.อ.พัลลภ (ปิ่นมณี) สังหารผม

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: แล้วกษัตริย์ทรงทราบเรื่องนี้หรือไม่

ทักษิณ ชินวัตร: ผมไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น ผมแน่ใจว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือ (การเมืองทั้งปวง) แต่พวกคนใกล้ชิดในวังซึ่งมีเครือข่าย พวกเขาร่วมมือกัน พูดคุยด้วยกัน พวกเขาต้องการสร้างภาพว่าพวกเขานั้นมีความจงรักภักดีเป็นที่สุด และพวกเขาต้องทำการกำจัดใครก็ตามซึ่งไม่จงรัก ใครก็ตามที่อาจจะเปลี่ยนประเทศไทยไปเป็นสาธารณรัฐ พวกเขาต้องการกำจัดผมเพราะพวกเขาพูดว่า ผมน่ะพยายามเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสาธารณรัฐ และจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ นั่นไม่ใช่ความจริง ผมน่ะมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์เป็นที่สุด

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: การที่สมเด็จพระราชินีทรงเสด็จไปงานพระราชทานเพลิงศพหนึ่งในผู้สนับสนุน เสื้อเหลือง (“เสื้อเหลือง” ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ) คุณคงจะแปลกใจไม่น้อย

ทักษิณ ชินวัตร: ทุกๆคน ทั้งประเทศไทยต่างประหลาดใจ แต่ผมทราบในองค์สมเด็จพระราชินี พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อใครบางคนกราบบังคมทูลฯ พระองค์ด้วยข้อมูลผิดๆ (เช่น) “สตรีผู้นี้ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากพยายามปกป้องสถาบันกษัตริย์” ผมคิดว่าพระองค์ทรงถูกหลอก พวกคนใกล้ชิดวงในของวังพยายามกราบบังคมทูลฯให้ทรงคล้อยตาม โดยให้ข้อมูลผิดๆกับพระองค์”

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณได้อ้อนวอนให้กษัตริย์ทรงเข้ามาแทรกแซง และฝ่ายสนับสนุนของคุณได้ยื่นฎีกาขอถวายพระราชทานอภัยโทษให้กับคุณ ทำไมกษัตริย์จึงทรงเพิกเผย

ทักษิณ ชินวัตร: ผมคิดว่าอาจจะเพราะขณะนี้ทรงพระประชวร พระองค์ทรงเข้าออกโรงพยาบาล ผมหวังว่าหลังจากที่พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงขี้นแล้ว พระองค์จะทรงหาหนทางให้ประเทศกลับคืนสู่ความสามัคคี เราไม่สามารถให้ประเทศเป็นอย่างนี้อีกต่อไปได้ เราเองจะยิ่งแย่ลง และแย่ลง และความแตกแยกจะยิ่งหนักขี้น และมากขี้น

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: กษัตริย์ทรงดูเหมือนจะทรงมีพระพลานามัยดีขี้นจากพระอาการประชวรเมื่อไม่นาน มานี้ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ จะมีความหมายอย่างไรต่อการเมืองไทย และสังคมไทย

ทักษิณ ชินวัตร: ประเทศไทยได้รับการปกครองโดย..พระราชวงศ์จักรีมากกว่า ๒๐๐ ปี จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่น แต่สิ่งแรกคนไทยต้องสมานฉันท์กันก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนรัชสมัย เพื่อการเปลี่ยนรัชสมัยจะได้เป็นไปอย่างราบรื่น

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: สักวันหนึ่งที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ จะทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ จะมีแบบอย่างอันแตกต่างจากพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันอย่างไร

ทักษิณ ชินวัตร: อาจจะมีความแตกต่าง แต่ผมคิดว่าเหตุการณ์จะเป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าราชบริพารรอบพระองค์จะเป็นคนใหม่ และผู้ใกล้ชิดในวังจะไม่ใหญ่โตขนาดนี้ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช เนื่องจากพระองค์ทรงยังใหม่ อาจจะยังไม่ได้รับความชื่นชมมากเสมอเท่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ดี พระองค์จะทรงประสบปัญหาน้อยลง เพราะคนใกล้ชิดราชวังจะมีขนาดเล็กลง เนื่องจากทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณจะอธิบายถึงพระนิสัยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่าเป็นอย่างไร

ทักษิณ ชินวัตร: พระองค์ทรงเป็นคนรุ่นใหม่ ทันสมัย

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: แล้วพระบุคลิกภาพของพระองค์ล่ะ เป็นอย่างไร

ทักษิณ ชินวัตร: พระองค์ทรงมีพระประสงค์อย่างเด็ดเดี่ยวที่จะกระทำการสิ่งใดให้สำเร็จ พระองค์ท่านมีความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: พระองค์ทรงต้องการมุ่งมั่นจะทำอะไรให้สัมฤทธิ์ผลบ้าง

ทักษิณ ชินวัตร: แม้พระองค์จะยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ และพระบารมีอาจจะยังไม่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้ แต่หลังจากที่พระองค์เสด็จขี้นครองราชย์แล้ว ผมแน่ใจว่าพระบารมีของพระองค์จะโชติช่วงเป็นที่ประจักษ์ในฐานะตำแหน่งองค์ พระประมุข เนื่องจากพระองค์ทรงสังเกตจากองค์พระเจ้าอยู่หัว พระราชบิดามานานปี พระองค์ทรงเรียนรู้จากองค์พระเจ้าอยู่หัวมากมาย …ยังไม่ใช่เป็นเวลาของพระองค์ แต่เมื่อถึงเวลานั้นผมคิดว่า พระองค์จะทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถเป็นแน่”

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: บางครั้งแม้แต่ในการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อกษัตริย์องค์ใหม่ขี้นครองราชย์ ย่อมต้องมีความรู้สึกใหม่ในประเทศ คุณคาดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยไหม

ทักษิณ ชินวัตร: ผมคิดว่าองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ – พระองค์ทรงเติบโตมาจากต่างประเทศ พระองค์ทรงได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ และพระองค์ทรงยังหนุ่ม ผมคิดว่าพระองค์ทรงเข้าใจถึงโลกสมัยใหม่ สำหรับพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของโลกที่กำลังมีการเปลี่ยน กษัตริย์ทรงต้องหมุนเปลี่ยนไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยนี้เช่นกัน

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณคิดว่าสำหรับราชวงศ์ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหน้าอย่างไร

ทักษิณ ชินวัตร: โดยเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และทรงเข้าใจว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง นั่นเพียงพอแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลง

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณได้รับเลือกตั้งถึงสามครั้งในประเทศไทย คุณไม่เคยแพ้ และคุณถูกปล้นอำนาจจากการทำรัฐประหาร ตำแหน่งขณะนี้ของคุณคืออะไร คุณยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่อยู่ในระหว่างลี้ภัยไหม

ทักษิณ ชินวัตร: ตอนนี้หรือ ผมคิดว่าตัวผมเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และกำลังอยู่ในระหว่างการลี้ภัย ผมได้เคยถูกขอร้องให้เป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่น ผมไม่ทำเช่นนั้นเพราะผมไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับราชวงศ์ ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยรับการทำรัฐประหาร ตอนนั้นผมพูดว่า “ทุกอย่างยุติแล้ว”

ขณะ นี้ผมเพียงแต่พยายามที่จะต่อสู้เพื่อความชอบธรรม ไม่ใช่สำหรับตัวผมเอง แต่สำหรับประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะคนยากจน พวกเขาได้เคยรับโอกาสต่างๆ และพวกเขาได้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่เมื่อมีการทำรัฐประหาร ทำลายความหวังของพวกเขา และตอนนี้ประเทศตกอยู่กับความเลวร้ายลงตลอดสามปีมานี้ ผมจึงต้องสู้เพื่อความยุติธรรม พวกเขาสมควรที่จะได้รับโอกาสต่างๆ

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เปรียบเทียบคุณกับ ออง ซาน ซูจี ของพม่า เป็นการเปรียบเทียบที่ดีไหม

ทักษิณ ชินวัตร: มีบางอย่างที่คล้ายกันนะ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ที่คล้ายกันคือเราได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง เราได้เข้าบริหารประเทศ เราถูกปล้นอำนาจจากการทำรัฐประหาร และเรามาจากประชาชน เราเป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างประชาธิปไตย และเรามาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน – เสียงจำนวนมหาศาลจากประชาชน ไม่ใช่แค่จำนวนมากเท่านั้น

เธอถูกการกักบริเวณ ผมถูกเด้งออกจากประเทศ พวกเขารู้ว่าถ้าผมยังอยู่ในประเทศ จะส่งผลเลวร้าย (สำหรับพวกเขา) ยิ่งกว่า ออง ซาน ซูจี

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณจะเข้าพบสมเด็จฮุนเซนแห่งกัมพูชาอาทิตย์นี้ คุณจะย้ายที่ไปอยู่กัมพุชาหรือ

ทักษิณ ชินวัตร: ไม่ครับ ผมทำงานผ่านทางออนไลน์ได้ ผมทำงานผ่านทางอีเมล์ได้ แต่ผมต้องการพบตัวท่านฮุนเซนเอง

หลังจากที่ท่านประกาศพระราชกฤษฎีกาแล้ว ผมโทรศัพท์ไปขอบคุณท่าน และท่านได้เชิญผมให้ไปกัมพูชา

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: รัฐบาลไทยได้มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเต็มที่ โดยการเรียกเอกอัครราชทูตกลับ ทำไมพวกเขาจึงได้แสดงอาการมากเช่นนั้น

ทักษิณ ชินวัตร: รัฐบาลนี้กำลังพยายามที่จะรักษาอำนาจไว้โดยทุกวิถีทาง พวกเขากลัวว่าถ้าผมจะอยู่ที่นั่น อาจจะใกล้เกินไป เอาเถอะ ผมไม่อยู่หรอก แต่ผมต้องเดินทางไปมาที่นั่น

รัฐบาล ทั้งหมดนั้นมัวเอาแต่หวาดวิตกเกี่ยวกับผม เลยไม่ต้องทำอะไรให้กับประเทศ พวกเขาหวงอำนาจจนเกินไป อำนาจที่พวกเขาได้มามันไม่ใช่ง่ายๆ เมื่อถึงเวลาได้อำนาจจากความช่วยเหลือของกองทัพ และประธานองคมนตรี พวกเขาเลยต้องกอดเก้าอี้ไว้อย่างเหนียวแน่น – เหมือนงูจงอางหวงไข่

พวก เขาเป็นเด็กมากเกินไป พวกเขาได้แต่กลัวว่าถ้าผมอยู่ที่นั่น ผู้สนับสนุนของผมจะมีความหวังมากเกินไป เพราะผมอยู่ใกล้เข้ามาแล้ว ผมจะไม่อยู่ที่นั่น ผมรู้ว่ามันใกล้เกินไป แต่ผมจะไปเยี่ยมเป็นครั้งเป็นคราว

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: เมื่อเดือนเมษายนคุณพูดว่า: “ถ้ามีเสียงปืนดังขี้น ทหารยิงประชาชนเมื่อไร ผมจะกลับไทยทันที และเป็นผู้นำเดินขบวนเข้ากรุงเทพ” กัมพูชาจะเป็นสถานที่เหมาะไหม ที่จะเริ่มเดินขบวนนั้น

ทักษิณ ชินวัตร: ถ้าผมจะเริ่มต้นเดินขบวน ผมจะเริ่มต้นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย บนแผ่นดินไทย แต่ผมจะต้องผ่านด่านเข้าประเทศไทย ผมสามารถเข้าไทยจากทางลาว กัมพูชา พม่า ผมหาทางของผมได้

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ในสถานการณ์เช่นไรที่คุณจะทำเช่นนั้น

ทักษิณ ชินวัตร: ผมไม่พยายามที่จะทำหรอก ผมมีวิธีการ (ก่อนที่จะทำแบบนั้น) การชนะการเลือกตั้ง – นั่นสำคัญมาก แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทยหรอก อาจจะแก้ปัญหาของผมได้ แต่ไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทย ปัญหาของประเทศไทยจะต้องแก้โดยการนำทั้งสองฝ่ายมานั่งกัน และให้ลืมทุกอย่าง เพื่อความสมานฉันท์ของชาติ

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: แล้วใครที่จะทำเช่นนั้นได้ล่ะ

ทักษิณ ชินวัตร: องค์พระเจ้าอยู่หัว ปกติแล้วประธานองคมนตรีควรเป็นบุคคลที่ทำเช่นนี้ได้ แต่ขณะนี้ประธานองคมนตรีเข้ามาก้าวก่ายแล้ว และจะถูกโจมตีอย่างหนักจากเสื้อแดง (ฝ่ายสนับสนุนทักษิณ) ตอนนี้ไม่มีใครเหลือ ไม่มีใครเหลือให้ทำการสมานรอยร้าวเช่นนี้ จะต้องเป็นองค์พระเจ้าอยู่หัว หรือไม่ก็สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งจะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป

รัฐบาล ต้องการให้ผมพ้นไปจากประเทศไทย พวกเขาไม่ต้องการให้ผมกลับไปประเทศไทย พวกเขาต้องการให้ผมออกไปจากการเมือง มีแต่ความต้องการทางการเมืองแท้ๆ

ถ้า ผมต้องกลับไปตอนนี้ จะยิ่งสร้างความยุ่งเหยิงให้มากยิ่งขี้น เพราะฝ่ายสนับสนุนของผม จำนวนล้านๆคน จะออกมา พวกเขาทราบว่าผมถูกกระทืบให้จมดินทางการเมือง ผมไม่ได้รับการพิจารณาคดี หรือได้รับการตัดสินอย่างยุติธรรม

ถ้า ผมต้องกลับไปตอนนี้ อาจจะเกิดการนองเลือด เพราะรัฐบาลนี้จะต้องใช้กำลังกองทัพ และใช้อาวุธจริงอย่างแน่ๆ ดังนั้นผมกลับไปจะไม่ได้ประโยชน์กับฝ่ายใด

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณจะบรรยายสถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้ได้อย่างไร

ทักษิณ ชินวัตร: กีฬาไหนๆก็ไม่มีเรื่องวุ่นวายหรอกถ้าผู้ตัดสินมีความยุติธรรม และถ้าทั้งสองฝ่ายต่างเล่นตามกติกา ในการเมืองไทยพวกเขาไม่เล่นตามกติกา

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ ภาพพจน์ของประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความสามัคคีและมีเอกลักษณ์แห่ง ชาติที่โดดเด่น แล้วทำไมคนไทยจึงได้ขาดความสามัคคีกันได้ขนาดนี้

ทักษิณ ชินวัตร: ก็เพราะความหวาดระแวงเรื่องความมั่นคงของราชวงศ์ พวกเขาคิดว่าผมน่ะได้รับความนิยมมากเกินไป และอาจจะเกินราชวงศ์ และผมจะเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งผมไม่เคยแม้แต่จะคิด ผมเพียงพยายามที่จะรับใช้ประเทศชาติ ผมน่ะมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ของผม ผมจะทำแต่สิ่งที่ดีๆเพื่อราชวงศ์

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: มีโอกาสจะประนีประนอมไหม

ทักษิณ ชินวัตร: ครับ ขี้นอยู่กับว่าใครจะนั่งหัวโต๊ะ

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณได้เคยติดต่อกับคนในรัฐบาลบ้างไหม

ทักษิณ ชินวัตร: ไม่เคยครับ พวกเขาไม่เคยติดต่อผม พวกเขาอ้างว่าได้ติดต่อผม แต่ไม่เคย พวกเขาไม่ต้องการขจัดปัญหา ไม่อย่างงั้นพวกเขาจะไม่สามารถกุมอำนาจเอาไว้ได้ พวกเขามัวเมาแต่อำนาจ ถ้าประเทศไม่เละเทะ และไม่มีใครช่วยพวกเขาให้เข้ามามีอำนาจ พวกเขาก็จะไม่มีทางที่จะกุมอำนาจไว้ได้อย่างนี้

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: เงินจำนวนมากของคุณยังคงอยู่ในประเทศไทย จำนวน ๗๖,๐๐๐ ล้านบาท (รัฐบาลทำการอายัดทรัพย์ในขณะที่ทักษิณถูกดำเนินคดี และถูกตัดสินว่ากระทำผิดข้อหาฉ้อราษฎร์) คุณจะได้กลับคืนมาไหม

ทักษิณ ชินวัตร: ผมคิดว่าวันหนึ่ง ถ้ามีความยุติธรรมเกิดขึ้น ผมคงได้เงินกลับมา เพราะเป็นเงินของครอบครัว ซึ่งได้แจ้งในบัญชีสินทรัพย์ก่อนหน้านี้ เป็นหุ้นจำนวนเดิมซึ่งเราเป็นเจ้าของก่อนที่จะเข้าสู่การเมือง และครอบครัวทั้งหมดได้ขายหุ้นไป ดังนั้นจึงมีที่มาของเงินอย่างชัดเจน แต่พวกเขายังคงพยายามสร้างเรื่องว่าราคาหุ้นเพิ่มเพราะอิทธิพลของผม จริงๆแล้วหุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นตามดัชนีมูลค่าหุ้น และบางบริษัทมีราคาเพิ่มกว่าปกติ แต่มันไม่ใช่บริษัทของครอบครัวเรา เป็นบริษัทของคนอื่น ครอบครัวของเราได้รับตามมูลค่าดัชนี

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ถ้ารัฐบาลกล่าวกับคุณว่า “เอาล่ะ เราจะให้เงินคืน แต่คุณต้องอย่าเข้ามายุ่งกับการเมือง ให้เป็นแค่นักธุรกิจ” คุณจะเห็นด้วยไหม

ทักษิณ ชินวัตร: เอ่อ ผมเพียงต้องการความยุติธรรม ผมไม่สนใจว่าผมจะได้กลับไปเล่นการเมืองอีกหรือไม่ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ยังต้องการผม ตอนนั้นผมจะต้องกลับไป ผมไม่สามารถเห็นแก่ตัวได้ แต่ถ้าจะต้องให้ผมเลือก ผมจะเลือกใช้ชีวิตอย่างสงบ ผมต้องการจะตั้งพรรคการเมืองใหม่เรียกว่า “พรรคความสุขของชีวิต” (หัวเราะ) คุณทราบไหมว่าผมน่ะไม่มีเวลาหาความสุขกับชีวิต ผมทำงานหนักตั้งแต่ผมโตขึ้นมา หลังจากผมประสบความสำเร็จกับการทำธุรกิจแล้ว แทนที่ผมจะได้อยู่อย่างมีความสุข ผมขออาสาทำงานให้กับประเทศ ปกติแล้วการเมืองไม่เหมาะสำหรับคนรวย ยากนักที่คนรวยจะต้องการเข้ามาเล่นการเมือง แต่ผมรักประชาชน ผมรักประเทศของผม ผมต้องการทำสิ่งที่ดีๆสำหรับเขาเหล่านั้น .. ผมอาจเดินหนีไปได้ ผมเอียนจริงๆกับการเมืองแบบไทยๆ แต่ถ้าประชาชนทำให้ผมได้กลับไป นั่นผมเป็นหนี้พวกเขา

ผม น่ะพวกนิยมการเปลี่ยนแปลง ผมต้องการให้มีการปฏิรูป ผมทำการปฏิรูปในหลายๆอย่าง ผมทำการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลซึ่งเคยเป็นแบบนั้นมานับร้อยปี ผมกำลังปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งหมดเพื่อให้ทันสมัยขึ้น

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ตั้งแต่คุณออกจากประเทศไทยแล้ว การสนับสนุนในประเทศไทยเองมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหม

ทักษิณ ชินวัตร: ก็ลดลงเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะในเมืองซึ่งสื่อลำเอียงต่อต้านผม เอียงกะเท่เร่ด้านเดียวตลอดเวลา แต่หลังจากผมเคลียร์ตัวเองแล้ว การสนับสนุนจะกลับมาอย่างเร็ว การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายหลังการทำรัฐประหาร (เดือนธันวาคม ๒๕๕๐) แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าผมไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว เรายังคงได้รับที่นั่งเพิ่มขึ้น แล้วจะเป็นจริงขึ้นมาอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าผมต้องอยู่ที่นั่น นั่นจะยิ่งได้คะแนนเสียงมากขึ้นไปใหญ่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมฝ่ายตรงข้ามของผม พรรคประชาธิปัตย์ถึงได้กลัวผมนักหนา และพยายามป้ายสีผม พวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะกำจัดผม

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณให้การสนับสนุนทางการเงินกับเสื้อแดงเท่าไร

ทักษิณ ชินวัตร: ถ้าคุณลองไปถามเสื้อแดงคุณจะเข้าใจได้ดีเลยนะว่าพวกเขาออกเงินกันเอง และพวกเขายังช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บริจาคเงินบ้างเล็กน้อยเมื่อพวกเขาเข้ากรุงเทพ พวกเขารวบรวมเงินกันนะ พวกเขาช่วยกันเองมากเลย น่าประหลาดใจมาก ไม่เหมือนพวกเหลือง (เสื้อเหลือง) พวกเหลืองนี่มาจากกองทัพที่ไปยึดสนามบิน (เสื้อเหลืองยึดสนามบินสุวรรณภูมิในปี ๒๕๕๑)

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณต้องให้เงินพวกเขาบ้าง คุณเป็นมหาเศรษฐีนี่

ทักษิณ ชินวัตร: ไม่ครับ ทรัพย์สินของผมถูกอายัดไว้

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: แต่ไม่ทั้งหมดนี่นะ – คุณต้องมีทรัพย์สินอยู่นอกประเทศไทยบ้างล่ะนะ

ทักษิณ ชินวัตร: ไม่มากครับ ไม่มาก

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณมีสินทรัพย์สุทธินอกประเทศไทยเท่าไร

ทักษิณ ชินวัตร: นอกประเทศไทยมีเพียงแค่สามพันกว่าล้านบาท หรือห้าหกพันล้านบาท จริงๆแล้วมีสามพันห้าร้อยล้านบาท

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ห้าหกพันล้านบาท หรือสามพันห้าร้อยล้านบาท

ทักษิณ ชินวัตร: ผมเคยมีถึงห้าหกพันล้านบาท แต่จ่ายเป็นค่าบ้าน ค่าโน่นค่านี่ เหลือประมาณสามพันห้าร้อยล้านบาท

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: จะใช้ได้ไปอีกนานเท่าไร

ทักษิณ ชินวัตร: ผมไม่ทราบ แต่ตอนนี้ผมทำงาน ผมทำธุรกิจ ผมไม่สามารถนอนงอมืองอเท้าใช้แต่เงิน ผมทำธุรกิจ ขณะนี้ผมลงทุน ผมมีเหมืองทองสิบแห่งที่อูกันดา ผมมีใบอนุญาตดำเนินการล้อตเตอรี่ในอูกันดา ในฟิจิ ในแองโกลา เราจะเริ่มเดือนมกราคม แล้วเรื่องใบอนุญาตเหมืองทอง ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีมาก ผมยังได้ลงนามในสัญญาสัมปทานเหมืองทอง และที่ดินในปาปัวนิวกินี ผมทำเรื่องเพชรดิบด้วย เราเจียรนัยด้วย ผมตัดสินใจไม่ทำเหมืองแร่เนื่องจากว่าเสี่ยงเกินไป เราจะทำให้มีกำไรได้อย่างรวดเร็ว

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณใช้เวลาอย่างไรเมื่อคุณอยู่ที่ดูไบ

ทักษิณ ชินวัตร: ก็ทำธุรกิจ พบปะเพื่อนฝูง และผู้สนับสนุนผมจากประเทศไทย และเดินทาง ผมจะเดินทางประมาณสิบวันต่อเดือน อยู่ที่ดูไบยี่สิบวัน

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณใช้เวลาวันละกี่ชั่วโมงต่อวันในการพูดคุยกับผู้สนับสนุนในประเทศไทย

ทักษิณ ชินวัตร: ประมาณสามชั่วโมงนะ ประมาณนั้น

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณพูดกับใครบ้าง

ทักษิณ ชินวัตร: แม้กับคนขับรถแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้าเล็กๆ และนักการเมืองบ้าง

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: นักการเมืองคนไหน

ทักษิณ ชินวัตร: พรรคเพื่อไทย

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณให้ความช่วยเหลือพรรคเพื่อไทยอย่างไร คุณทำอะไรสำหรับพรรคบ้าง

ทักษิณ ชินวัตร: ตัวผมเองเป็นจุดขายของพรรค บางครั้งบางคราวผมก็ต้องไปพูดกับบรรดาผู้สนับสนุน ทุกวันอังคารผมต้องทำรายการวิทยุทางอินเตอร์เน็ต

ใน วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน จะมีคอนเสิร์ตเพื่อการระดมทุน ผมจะร้องเพลง (ชื่อเพลงไทย) “ขอบคุณที่อัดผมอีกแล้ว” เพราะพวกเขาเอาแต่โจมตีผม เนื้อร้องของเพลงนี้เป็นอย่างนี้ “ขอบคุณที่คอยเอาแต่ตีซ้ำๆ และตีตรงที่เดิม ซึ่งผมเจ็บช้ำไปหมดแล้ว” นี่เป็นเพลงเกี่ยวกับความรักนะครับ

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณมีแผนการทางการเมืองไหม

ทักษิณ ชินวัตร: มีครับ แต่ในทางสงบ ผมต้องการเห็นการสมานฉันท์ มากกว่าการประจันหน้ากัน ผมต้องการให้เสื้อแดงกดดันให้มีการสมานฉันท์ ไม่ใช่นองเลือด หรือประจันหน้ากัน

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: คุณกำหนดเวลาไว้ไหมว่าเมื่อไรจะกลับประเทศไทย

ทักษิณ ชินวัตร: ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของผม เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลไทย ผมยังอยู่ที่นี่ได้ปีหนึ่ง สองปี ผมสบายดี แต่สถานการณ์ของประเทศไทยควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ทำไมหรือ ถ้าปัญหาไม่ถูกแก้ไข อะไรจะเกิดขึ้นหรือ

ทักษิณ ชินวัตร: เศรษฐกิจจะยิ่งเลวลง คนไทย ชีวิตของพวกเขา จะแย่ลงไปด้วย และประเทศไทยจะไม่อยู่ในสายตาของประเทศใหญ่ๆอีกต่อไป ศูนย์ทางการเมืองจะไม่อยู่ที่ประเทศไทยอีกต่อไป สำหรับอเมริกาแล้วจะย้ายไปอินโดนีเซียแทน

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: บางคนในประเทศไทยดูเหมือนจะตื่นกลัวมากกว่าแค่เรื่องเศรษฐกิจซบเซา และการเพิกเฉยทางการทูต คุณได้ยินคนพูดกันเรื่องประเภทเศรษฐกิจพังทลาย สงครามกลางเมือง เป็นไปได้ไหม

ทักษิณ ชินวัตร: ประเทศไทยใกล้ถึงขั้น “ล้มเหลว” ทุกสถาบันเกือบไม่สามารถทำงานอะไรได้ เพราะไม่ยอมทำตามกติกา ไม่ยอมใช้หลักนิติธรรม มีแต่ความอคติต่อผู้อื่น คุณไม่โชติช่วงต่อสายตาโลก คุณเอาแต่ต้องการกุมอำนาจโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น นั่นทำไมผมถึงพูดว่าประเทศไทยกำลังจะล้มเหลว เพราะไม่มีใครไว้ใจใคร ไม่มีสถาบันใดที่จะได้รับความน่าเชื่อถืออย่างเช่นแต่ก่อน

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ความผิดพลาดของคุณคืออะไร

ทักษิณ ชินวัตร: ผมเล่นการเมืองโดยไม่ทำความเข้าใจให้ดีถึงโครงสร้างอำนาจของสังคม ผมพยายามที่จะจัดการให้เหมือนนักธุรกิจ พยายามที่จะทำการตลาด ทำการรณรงค์ และทำด้านการค้า ผมพยายามที่จะช่วยคนยากจน และรณรงค์เพื่อให้ได้รับความนิยม รณรงค์ในเรื่องที่ผมได้ทำสำหรับพวกเขา และทำงานหนักเพื่อพวกเขาโดยลืมนึกถึงความสลับซับซ้อนของโครงสร้างอำนาจของ การเมืองไทย ผมไม่เดียงสาในเรื่องนั้น ผมจึงได้สะดุด

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: เรื่องการขายชินคอร์ปล่ะ (บริษัทโทรคมนาคมของครอบครัวทักษิณ ได้ขายให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ในราคา ๗๗,๔๐๐ ล้านบาทโดยไม่ได้จ่ายภาษี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทักษิณได้รับการวิจารณ์อย่างหนักในระยะที่ดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรี) คุณไม่ได้จ่ายภาษี ถ้าเอาเรื่องความผิดถูกทางกฎหมายวางไว้ก่อน นี่เป็นการตัดสินใจผิดพลาดทางการเมืองหรือไม่

ทักษิณ ชินวัตร: แม้ว่าจะต้องการจ่ายภาษี แต่กรมสรรพากรก็ไม่ยอมรับชำระภาษีนั้น สำหรับประเทศไทยแล้วกำไรจากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี กฎหมายยกเว้น บางประเทศคิดภาษีจากกำไรนี้ แต่กฎหมายไทยได้บัญญัติไว้มาหลายปีแล้ว เพื่อเป็นสิ่งจูงใจสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษีจากกำไรที่ขายหุ้นได้

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: อย่างนั้นคุณไม่เสียใจ หรือวิตกใดๆเกี่ยวกับวิธีที่คุณจัดการในเรื่องนั้น

ทักษิณ ชินวัตร: คุณครับ ผมตกอยู่ในที่นั่งลำบากที่จะพูดอะไรในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องของครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวผม ผมอยู่ในสภาวะอิหลักอิเหลื่อในฐานะนายกรัฐมนตรีที่จะพูดอะไรออกไปได้

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: แต่ถ้าคุณได้พูดในฐานะเป็นประชาชนธรรมดาในขณะนี้ ก็หมายถึงได้ทำผิด ใช่หรือไม่

ทักษิณ ชินวัตร: ไม่ใช่ครับ เพราะเป็นเรื่องความอิจฉา ผมเป็นเพียงไม่กี่คนที่มีเงินสดมาก พวกศักดินาอิจฉา ผมเป็นตัวแทนของชาวชนบทซึ่งเติบโตขึ้นมา และมีเงินมากขนาดนั้น ครอบครัว (ของผม) ต้องการให้ผมมีอิสระ และปราศจากการถูกวิจารณ์ในเรื่องขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ดังนั้นพวกเขาคิดว่าเป็นทางดีที่จะขาย (บริษัท) ออกไป

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: เกี่ยวกับการก่อความไม่สงบในภาคใต้ (ซึ่งมีประชาชนจำนวนนับพันได้เสียชีวิตจากการถูกโจมตีจากบรรดามุสลิมหัวรุนแรง)

ทักษิณ ชินวัตร: ผมมีอุดมการณ์อย่างอ่อนนอกแข็งใน หนังสือพิมพ์ และสื่อหลักได้วาดภาพให้ผมมีแต่การใช้ไม้แข็ง ผมช่วยในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ผมได้ช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัย ด้านประกันสุขภาพ และด้านการศาสนา

แต่ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น – สภาพยังคงเลวร้ายลงทุกปี

คุณ ก็คงทราบว่าสถานการมันสุกงอมมาหลายปีแล้วเนื่องจากประวัติศาสตร์ในภาคนั้น ของประเทศไทย แผนที่ได้ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ บางส่วนที่เคยเป็นของประเทศไทยได้กลายเป็นของมาเลเซีย บางส่วนที่เคยเป็นมาเลเซียกลับกลายมาเป็นของไทย ส่วนของไทยไปเป็นมาเลเซีย ไม่มีปัญหาใดๆแต่ในส่วนของมาเลเซียซึ่งเป็นของไทยนี่แหละที่มีปัญหา พวกเขามองไปที่มาเลเซีย ซึ่งมีความเจริญ แต่ในส่วนทางประเทศไทยไม่เจริญ มันควรจะเจริญ แต่เราไม่ได้จัดการให้ถูกวิธีเนื่องจากปัญหาเรื่องการศึกษา เรายอมให้พวกเขามีแต่การสอนศาสนาได้อย่างเดียว ซึ่งหมายถึงว่าพวกเขาจะออกไปทำมาหากินอะไรไม่ได้ ดังนั้นพวกเขาจึงยากจน – พวกเขาต้องการกลับไปอยู่ด้านมาเลเซียเพราะด้านนั้นเค้าดีกว่า นี่เป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว

และเมื่อพวกเขาปล้นคลังอาวุธ และยึดเอา เอ็ม ๑๖ ไปมากกว่าสี่ร้อยกระบอก – จากนั้นพวกเขาเริ่มรวบรวมกำลัง และแข็งแรงขึ้น

เรา ต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่โชคไม่ดีที่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ตากใบ (เหตุการณ์โด่งดังที่ชาวมุสลิม ๘๕ คน ได้เสียชีวิต หลังจากถูกจับจากการประท้วงซึ่งสร้างความรุนแรง พวกเขาถูกจับให้นอนซ้อนกันหลังรถบรรทุกขนถ่ายของทหาร ซึ่งเกิดการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจจำนวนมาก) เป็นความโชคร้าย เพราะการขนถ่ายของกองทัพ พวกเขาไม่มีความฉลาดเอาเสียเลย พวกเขาไม่มีรถบรรทุกลำเลียงเพียงพอเลยเอาผู้ประท้วงมาซ้อนกัน จึงขาดอากาศหายใจ เป็นเรื่องโชคร้าย ใน (การชุมนุม) เกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตประมาณสี่หรือห้าคน แต่กลายเป็น ๘๐ คนเนื่องจากถูกนำตัวมาซ้อนกัน และยิ่งเป็นช่วงเดือนถือศีลอดแล้วด้วย ยิ่งขาดอากาศได้ง่ายเข้าไปใหญ่ พวกเขาไม่ได้ดื่ม ไม่ได้ทาน แล้วมาถูกนายทหารชั้นผู้น้อยทำการขนย้ายแบบนั้นด้วย พวกทหารไปซ้อนพวกเขา เพราะพวกทหารกลัวตาย

ริชาร์ด ลอยด์ แพรี่: ไม่กี่ปีก่อนคุณได้หย่ากับภรรยา บางคนพูดว่าเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องทางกฎหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินของคุณ

ทักษิณ ชินวัตร: ภรรยาผมเข้าใจว่าผมมีผู้สนับสนุนเยอะ ผมไม่สามารถเลี่ยงไม่กลับไปเล่นการเมืองได้ เนื่องจากผู้สนับสนุนได้ตั้งความหวังเอาไว้กับตัวผม และเธอไม่ได้สนับสนุนให้ผมเล่นการเมืองมาตั้งแต่แรก เพราะเธอมาจากครอบครัวที่ไม่ชอบทำตัวเด่นดัง เธอไม่ค่อยออกไปไหนกับผม โดยเฉพาะต่างประเทศ เธอไม่เคยติดตามผมไปไหน เธอต้องการอยู่อย่างเงียบๆ เธอไม่ชอบการเมืองเลยแม้แต่สักนิดเดียว แต่เธอเข้าใจดีว่าผมต้องกลับไปเล่นการเมือง เธอเลยบอกกับผมว่า: “น้องไม่สามารถห้ามพี่เข้าไปเล่นการเมืองได้อีกต่อไป เพราะพี่เห็นแก่ผู้ที่สนับสนุนทางพี่ แต่พี่ต้องเห็นใจน้องด้วย น้องรับไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มันมากเกินไปสำหรับชีวิตของน้อง ทางที่ดีเราควรหย่ากัน” เราจึงหย่ากันด้วยความเข้าใจกัน เราช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการดูแลลูก แต่ถ้าเรื่องการเมืองแล้ว เธอพูดว่า “ขอร้องเถอะค่ะ – น้องไม่ต้องการเข้าไปยุ่งอีกต่อไปแล้ว” เธออยู่ที่ประเทศไทย และตั้งแต่หย่าแล้วเราไม่ได้เจอกันอีกเลย

(ใน เรื่องการปรับปรุงสถาบันกษัตริย์) เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ทุกๆอย่างต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเหมือนกับร่างกายมนุษย์ เมื่อคุณแรกเกิดเป็นทารก หัวใจจะมีขนาดเล็กมาก แต่เมื่อโตขึ้น หัวใจก็จะต้องโตตามร่างกายที่เติบโตนั้น เราจะมีหัวใจทารกในร่างของผู้ใหญ่ไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ทุกสถาบัน ไม่เพียงแต่สถาบันกษัตริย์ ทุกๆสถาบันก็เหมือนกันหมด – ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับอะไรที่กำลังเปลี่ยนแปลง

วันอังคารที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ทักษิณ ชินวัตร: แถลงการณ์ กรณีการเสนอข่าวเท็จของ timesonline

แถลงการณ์ฉบับที่ 7 ของ พ.ต.ท. ทักษิณ กรณี การเสนอข่าวเท็จของ timesonline

9 พฤศจิกายน 2552
ที่มา – Thaksinlive

กรณี การเสนอข่าวเท็จของ timesonline

ตามที่มีการเสนอข่าวใน www.timesonline.co.uk วันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 พาดหัวข่าวว่า “Ousted Thai leader Thaksin Shinawatra calls for ‘shining’ new age after King’s death” ซึ่งเป็นการบิดเบือนคำให้สัมภาษณ์ของผมโดยสิ้นเชิง และ การเสนอข่าวที่เป็นความเท็จดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดในหมู่ผู้ อ่านข่าวและในหมู่คนไทยตามมา ซึ่งผมขอกราบเรียนข้อเท็จจริงดังนี้

1. ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ตามเนื้อความที่ว่า “calls for ‘shining’ new age after King’s death” การพาดหัวข่าวดังกล่าว เป็นการกระทำของ timesonline ที่เป็นเท็จทั้งสิ้น ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์เช่นนั้น

2. ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ไปตามที่มีข้อความที่ว่า “called for reform of the country’s revered monarchy and spoken of a ‘shining’ new age after the era of the ailing King, Bhumibol Adulyadej.” การเขียนข่าวดังกล่าวเป็นการกระทำของ timesonline ที่เป็นเท็จทั้งสิ้น ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์เช่นนั้น

3. ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ที่ไปกระทบสถาบันใดๆ เลย แต่ในทางตรงกันข้ามระหว่างการสัมภาษณ์นั้นได้ปกป้องสถาบันว่า อยู่เหนือการเมืองและเทิดทูนสถาบันว่า เป็นที่เทิดทูนของคนไทยทั้งปวงและคนหนึ่งคนใดไม่ควรดึงสถาบันให้มาเกี่ยว ข้องกับการเมือง

4. ผมได้สัมภาษณ์เทิดทูนพระเกียรติและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร

ผมรู้สึกเสียใจต่อการนำเสนอข่าวของ timesonline ในครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่ผมกำชับผู้สัมภาษณ์ว่าเรื่องสถาบันเป็นเรื่องสูงและละเอียดอ่อน ต้องนำเสนอข่าวให้ตรงกับสิ่งที่ผมพูด ผมจึงขอประณาม timesonline ที่เสนอข้อความเท็จ และสร้างความสับสนเรื่องนี้ ผมยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ครอบครัวผมและตัวผมมีความจงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพร้อมสละชีวิตเพื่อปกป้องสถาบันเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
9 พฤศจิกายน 2552


ทักษิณแห่งประเทศไทยมาถึงกัมพูชาแล้ว


พนมเปญ กัมพูชา – ช่างภาพเอเอฟพีรายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่กำลังลี้ภัยเดินทางถึงเมืองหลวงของกัมพูชาเมื่อวันอังคาร เพื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นผู้ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล

นัก ข่าวเอเอฟพีที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า ทักษิณเดินทางมาด้วยเครื่องบินส่วนตัวขนาดเล็กเทียบท่าสนามบินนานาชาติ พนมเปญ และได้รับการคุ้มกันตัวด้วยรถขบวนที่มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ไปยังเมืองหลวงของกัมพูชา

การ เยือนกัมพูชาครั้งนี้จะยิ่งสร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศเพื่อนบ้านไทย ซึ่งได้ทวีความรุนแรงมากขี้นตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว เมื่อกัมพูชาได้แต่งตั้งทักษิณ – ซึ่งถูกการทำรัฐประหารปล้นอำนาจในปี ๒๔๔๙ และอยู่ในระหว่างการลี้ภัย – ให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

ตาม ภาพ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรแห่งประเทศไทย ลงจากเครื่องบินที่ท่าอากาศยานกองทัพบกที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อวันอังคาร ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ กัมพูชาประกาศว่าอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรที่กำลังลี้ภัย เดินทางมากัมพูชาเมื่อวันอังคารนี้ก็เพื่อทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้ กับรัฐบาล กระพือความตึงเครียดให้กับเพื่อนบ้านสองประเทศ