วันพฤหัสบดีที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓

วิพากษ์การบิดเบือนทางความคิดและทุจริตทางวาจา ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เท่าที่ติดตามข่าวการอภิปรายของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทราบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปแล้วอย่างครึกครื้นพอสมควร ผมยังไม่มีโอกาสอ่านคำ วิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น แต่เมื่อได้อ่านประมวลเนื้อหาของการอภิปรายนั้น แล้ว ก็คิดว่าควรจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้บ้าง บางทีการวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นที่มีลักษณะสุดขั้วหรือแปลกๆ อาจจะทำให้สามารถเสนอความเห็นอะไรได้ดีกว่าตั้งประเด็นขึ้นเองก็ได้

นอกจากนี้เมื่อเร็วๆนี้ยัง ปรากฏว่ามีนักวิชาการระดับแนวหน้าอีกบางคน ที่เที่ยวไปตระเวนชี้แจงให้ เหตุผลทำนองเดียวกันอยู่ในต่างประเทศ การโต้แย้งความคิดของท่านอธิการบดีฯน่าจะครอบคลุมถึงความเห็นของนักวิชาการ พวกเดียวกันนั้นได้ด้วย
ท่านอธิการบดีฯถามว่า “คน ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการรัฐประหารของคมช. แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ที่อ้างว่าดีที่สุดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ได้มาจากคณะรสช.ที่มีการยึดอำนาจรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2532 หรือ”
คำตอบอย่างง่ายๆตรงไปตรงมาก็ คือ ไม่ใช่เลย รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ประชาชนพากันต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรสช.ที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2534 พร้อมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และเมื่อการสืบทอดอำนาจของรสช.ต้องยุติลงแล้ว ก็มีการเคลื่อนไหวให้มีการ ปฏิรูปการเมืองจนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ขึ้น รัฐธรรมนูญ 40 จึงไม่ได้มาจากการรัฐประหารของรสช. แต่เป็นผลิตผลของการต่อต้านการสืบทอด อำนาจเผด็จการของรสช. และเป็นผลของความพยายามทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มากขึ้นโดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก
ความจริงท่านอธิการบดีฯก็รู้ ดีอยู่แก่ใจ และที่ถามก็คงไม่ได้ต้องการคำตอบ เพียงแต่ต้องการจะลดความชอบธรรมของรัฐ ธรรมนูญฉบับประชาชน ให้มีค่าไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญที่เป็นผลโดยตรงของการรัฐ ประหารอย่างรัฐธรรมนูญปี 50 เท่านั้นเอง
ท่านอธิการบดีฯยังสร้างความ ชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับ50ด้วยการอวดอ้างว่า “ประวัติศาสตร์รัฐ ธรรมนูญไทยไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ผ่านการทำประชามติ” พร้อม กับช่วยแก้ต่างข้อโจมตีให้ด้วยว่า “แล้วที่บอกว่าประชาชนเขาโดนหลอก แต่นั่นก็เป็นเสียงประชาชนไม่ใช่หรือ”
ท่านอธิการบดีฯไม่ได้บอกด้วย ว่าการลงประชามตินั้นทำกันไปในเงื่อนไขอย่างไร การลงประชามติที่ทำไปนั้น ทำไปโดยมีเงื่อนไขแกมบังคับประชาชนว่า ถ้าไม่ผ่าน ร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว คมช.อาจหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปรับแก้เอาตามใจอย่างไรก็ได้ ทั้งยังขู่ด้วยว่าจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนอออกไป บ้านเมืองไม่เข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนั้นการชี้แจงเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญนี้เกือบจะเป็นการชี้แจงฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเกือบไม่มีโอกาสชี้แจงโต้แย้งเลย ซ้ำยังมีกฎอัยการศึกคุมอยู่ในหลายสิบจังหวัดปิดกั้นการชี้แจงของผู้ที่ไม่ เห็นด้วย ที่แย่ที่สุดก็คือ เมื่อร่างผ่านประชามติมาแล้ว ยังมีการเติมบทเฉพาะกาลกัน อย่างสนุกสนาน จนทำให้รัฐธรรมนูญที่ใช้กันจริงๆมีเนื้อหาที่เลวร้ายหนักเข้า ไปอีก ชนิดที่ต้องเรียกว่าเป็นคนละฉบับกับที่ไปถามความเห็นประชาชนก็ว่าได้
ประชามติที่ท่านอธิการบดีฯนำ มาอวดอ้าง จะว่าไปก็เป็นเสียงประชาชนอย่างที่ท่านกล่าว เพียงแต่เป็นเสียงของประชาชนที่ถูกข่มขู่ บังคับ และหลอกลวงเสียมากกว่า จริงๆแล้วก็คือประชามติลวงโลกนั่นเอง
ท่านอธิการบดีฯยังได้ตั้งคำ ถามที่คมไม่แพ้ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้งเลยที่เดียวที่ว่า “ท่านที่บอกว่ามี ความคิดเป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับอำนาจทหารที่มาจากการทำรัฐประหาร ถ้าไม่ยอมรับรัฐประหาร ถามว่าเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 หรือไม่”
ผมเองก็เพิ่งแสดงความเห็นไป ว่าในประเทศไทยไม่เคยมี และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการรัฐประหารที่ดี พอท่านอธิการบดีฯพูดอย่างนี้ก็ทำ ให้คนคล้อยตามได้ง่ายทีเดียว
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการรัฐประหารหรือไม่ คำตอบก็คือ เป็น
ถามต่อไปว่าเป็นการรัฐประหาร ที่ดีและก้าวหน้าหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าดี และก้าวหน้า
แล้วทำไมมีการรัฐประหารที่ดี และก้าวหน้าได้ล่ะ
คำตอบก็คือ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีกลไกและวิธีการในระบบที่จะเปลี่ยนแปลงสู่ การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ การรัฐประหารจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นและก้าวหน้า อาจจะไม่ก้าวหน้าอย่างเต็ม ที่เพราะขาดการเข้าร่วมของประชาชน แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและก้าวหน้า
แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองเป็นต้นมา ประเทศอยู่ในระบบที่เราอาจเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาโดยการมี ส่วนร่วมของประชาชนและโดยสันติได้แล้ว การรัฐประหารจึงไม่ใช่สิ่งที่ดี หากแต่ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประเทศนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า
ที่ผมพูดว่าไม่มีรัฐประหารที่ ดีในประเทศไทย จึงหมายถึงนับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงหารปกครองแล้วเป็นต้น มา
ท่านอธิการบดีฯเองยังไม่ได้ไป ไกลถึงขั้นที่บอกว่า จริงๆแล้วท่านก็ไม่ได้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 2475 แต่ท่านตั้งคำถามนี้เพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่าง
หนึ่งคือ ลดความชอบธรรมของการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้มีฐานะเท่าๆกับการรัฐประหารทั้งหลายที่เกิดขึ้นใน เวลาต่อมา
สองคือ ท่านพยายามสร้างความชอบธรรมและการยอมรับให้กับการรัฐประหารโดยทั่วไป โดยเฉพาะครั้งที่ผ่านมา และแน่นอนย่อมรวมถึงการรัฐประหารที่อาจจะมีขึ้นในวันข้างหน้าอีกด้วย
การแสดงความเห็นที่ผ่านๆมาของท่านก็นับว่าชัดเจนมากแล้วว่าท่านคิดอย่างไร กับการรัฐประหาร แต่ก็ยังใช้สำนวนโวหารให้ดูแนบเนียนอยู่บ้าง แต่คราวนี้ท่านเปิดเผยตรงไปตรงมาที่สุดว่า ท่านเลือกที่จะแก้ต่างและพร้อม ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการการรัฐประหารเลยทีเดียว
ปัญหาการมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม ของรัฐบาลปัจจุบัน ท่านอธิการอธิบายว่า “ถ้ารัฐบาลนี้มาจากรัฐประหาร ผมก็ถามว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผมถามว่ารัฐบาลนายสมัครและรัฐบาลนายสมชายมาจากไหน ตอนนี้เรามักข้ามบางเรื่องไปเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่าง”
ความจริงถ้ามองแบบผิวเผิน ก็อาจพูดได้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์กับรัฐบาลสมชายและรัฐบาลสมัครต่างก็มาจากสภา ชุดปัจจุบันเหมือนกัน
แต่ทำไมจึงว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม
ในการเลือกตั้งเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ นั้น ประชาชนไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์มาเป็นรัฐบาล แต่เลือกพรรคพลังประชาชน การที่พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นรัฐบาลขึ้นมาได้ก็เพราะมีการล้มรัฐบาลก่อน หน้านั้นไปถึง ๒ รัฐบาล โดยอาศัยรัฐธรรมนูญและกลไกตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัด ต่อหลักนิติธรรม ทั้งในการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังมีผู้มีอำนาจและผู้นำกองทัพเข้ามาก้าว ก่ายแทรกแซง ดังเป็นที่ทราบทั่วกันว่ารัฐบาลนี้ตั้งขึ้นในค่ายทหาร
ที่ว่ารัฐบาลสมัครและรัฐบาลสม ชายถูกล้มไปโดยรัฐธรรมนูญและกลไกตามรัฐธรรมนูญนั้น พอดีเป็นประเด็นที่ท่านอธิการบดีฯก็ได้มาแก้ต่างให้ ทั้งในเรื่องการปลดนาย สมัครออกจากนายกฯและการยุบพรรคพลังประชาชน จึงควรมาดูประเด็นทั้งสองนี้กัน
ท่านอธิการบดีฯพยายามจะอธิบาย ว่าไม่มีเรื่องสองมาตรฐานโดยบอกว่า “กรณีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีทำกับข้าว ต้องพ้นจากตำแหน่งได้ เป็นการจ้องหาเรื่องกันนี่ โดยส่วนตัวผมยอมรับว่าเซอร์ไพรซ์ ผมคิดว่านายสมัครแค่ ‘รับจ้าง’ ไม่ใช่ ‘ลูกจ้าง’ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างเคร่งครัด โดยแวดวงกฎหมายกำลังรอดูว่าจะมีคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะตัดสิน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นกรณีอื่นๆ หรือแม้แต่กรณีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ ต้องตัดสินอย่างเดิม ตรงนี้ผมกำลังรอคำวินิจฉัยที่สอง แต่ขณะนี้ยังเป็นมาตรฐานเดียว คือมาตรฐานอย่างเข้ม ในส่วนของนายสมัคร ยังไม่มีคดีอื่นให้เปรียบเทียบ ซึ่งผมกำลังรอดูคำตัดสินคดีอื่นอยู่เช่นกัน”
ก็แล้ว “รับจ้าง” กลายเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายไปได้อย่างไร
คำตอบก็คือ เพราะตุลาการศาล รัฐธรรมนูญใช้พจนานุกรมแทนที่จะใช้กฎหมาย และความจริงก็มีตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความเป็นสองมาตรฐานแล้ว คือกรณีที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองบางคนไปสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยบ้าง หรือไปจัด รายการทางวิทยุบ้าง ถ้าตีความอย่างเคร่งครัดหรือใช้มาตรการอย่างเข้มตามคำของท่านอธิการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหล่านั้นก็ต้องพ้นจากตำแหน่งกันไปแล้ว ไม่ต้องรอให้อภิสิทธิ์ไปทำกับข้าวออกทีวีเสียก่อนแล้วดูการตัดสินของศาลรัฐ ธรรมนูญจึงจะรู้ว่าสองมาตรฐานหรือไม่
เรื่องนี้นอกจากจะขัดหลัก นิติธรรมแล้ว ระบบตามรัฐธรรมนูญและการตีความตามใจชอบยังมีผลเท่ากับการที่คนเพียงไม่กี่คน สามารถหักล้างอำนาจการตัดสินของประชาชนทั่วประเทศด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง และขาดน้ำหนักอย่างยิ่งได้อีกด้วย
รัฐบาลสมชายนั้นล้มไปเพราะ พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ถูกยุบเนื่องจากกกต.เชื่อว่ากรรมการบริหารคนหนึ่งทำ ผิดกฎหมายเลือกตั้งและต่อมาได้รับใบแดง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุว่าเมื่อกรรมการบริหารเพียงแค่ปล่อยปละละเลยก็ ต้องยุบทั้งพรรค แม้ว่ากรรมการบริหารคนอื่นจะไม่รู้เรื่องด้วยเลยก็ตาม และเมื่อยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารทั้งชุดก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ไปพร้อมกันด้วย
กติกาอย่างนี้ขัดต่อหลัก นิติธรรม เพราะเป็นการลงโทษหมู่คณะจากการกระทำของคนๆเดียว ไม่ต่างจากการประหารเจ็ดชั่วโคตรในอดีต
พรรคอื่นบางพรรคที่ถูกยุบไป แล้วเช่นพรรคชาติไทย ถูกยุบเพราะกกต.เชื่อว่าผู้สมัคร ซึ่งเป็นกรรมการบริหารเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการเลือกตั้งจึงให้ใบแดงไป เลย เมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่มีอำนาจพิจารณาว่า ทุจริตจริงหรือไม่ แต่เมื่อเป็นที่ยุติโดยกกต.แล้วว่าทุจริต ศาลรัฐธรรมนูญก็มีทางเดียว คือต้องให้ยุบพรรคชาติไทย และเพิกถอนสิทธิ์ กรรมการบริหารทั้งชุด
ต่อมาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตในการเลือกตั้งรายนั้นถูกดำเนินคดี จนถึงที่สุดแล้วปรากฏว่าสั่งไม่ ฟ้อง ต้องคืนเงินให้เขาไป สรุปก็คือไม่มีใครทำผิดเลยแม้แต่คนเดียว แต่พรรคทั้งพรรคก็ถูกยุบไปแล้วอย่างง่ายดาย
ท่านอธิการบดีฯยืนยันว่า เรื่องการยุบพรรคไม่มีเรื่องสองมาตรฐาน โดยเฉพาะกรณีของพรรคประชาธิปัต ย์ ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยแคลงใจในการทำงานของกกต.อยู่นั้น ท่านอธิการช่วยแก้ ให้เสร็จสรรพว่า “แล้วก็มีคนเรียกร้องว่า ทำไมยุบไปแล้ว 3 พรรค 4 พรรค แต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ผมบอกว่านี้ครับว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไม่ได้ทุจริตเลือกตั้ง ไม่มีกรรมการบริการพรรคไปทุจริตซื้อเสียง แต่ที่ร้องเรียนเป็นการใช้เงินจาก กกต.ผิดประเภท ซึ่งนั่นเกิดก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้”
คนที่กล้าแก้ต่างให้พรรคประชา ธิปัตย์อย่างโจ่งแจ้งขนาดนี้ น่าจะต้องศึกษาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มาแล้ว มากพอ แต่ก็แปลกที่ท่านอธิการบดีฯไม่ได้ให้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริงที่เกิด ขึ้น ทั้งยังเบี่ยงเบนประเด็นอีกด้วย
เป็นความจริงที่ในคดี 258 ล้าน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเลือกตั้งหรือซื้อเสียง แต่ ขณะเดียวกันเรื่องที่ร้องเรียนก็ไม่ใช่มีเพียงเรื่องการใช้เงินจากกกต.ผิด ประเภทอย่างที่ท่านอธิการบดีฯว่า เรื่องใหญ่ยังอยู่ที่เรื่องการปกปิดเงินบริจาค 258 ล้านบาทจากบริษัทเอกชน ร่วมมือกับบริษัทเอกชนฉ้อโกงบริษัทมหาชน และได้ใช้เงินเหล่านั้นในการทำงานของพรรค รวมทั้งในการเลือกตั้ง
ที่บอกว่าเรื่องนี้เกิดก่อน รัฐธรรมนูญ 2550 ท่านอธิการต้องการอธิบายว่า เพราะฉะนั้นจะมาบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 สองมาตรฐานไม่ได้
แต่เรื่องนี้ก็ยังมีปัญหาสอง มาตรฐานอยู่นั่นเอง ไม่ใช่ปัญหาสองมาตรฐานที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาการปฏิบัติอย่างสองมาตรฐานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญคือกกต.
คดี 258 ล้านนี้พิจารณากันมานานมาก ต่างจากการพิจารณาคดีของพรรคการเมืองอื่นที่ถูก ยุบไปแล้ว ถึงเวลาลงมติ กลับมีมติส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมือง และทำท่าว่าถ้านายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยกคำร้อง ก็อาจไม่ ต้องกลับมาให้กกต.พิจารณาอีก
ที่เป็นตลกร้ายที่สุดก็ คือ การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอใช้เวลาอ่านสำนวนอีกกว่า 3 เดือนก่อนจะเสนอความเห็นได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นเป็นคนเดียวที่ลงมติให้ยกคำร้องในฐานะประธานกกต.
ทำเหมือนกับคนทั้งประเทศไม่ รู้ว่าประธานกกต.กับนายทะเบียนพรรคการเมืองคือคนๆเดียวกัน
เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ที่ท่านอธิการบดีฯอธิบายว่า “เรื่องนี้ก็ไม่มีสองมาตรฐานขึ้นอยู่กับ ว่าอัยการจะสั่งฟ้องช้าหรือเร็วเท่านั้น” ดูเหมือนไม่ต้องใช้เวลาในการโต้แย้งอะไรมาก วิญญูชนทั้งหลายคงสามารถตัดสินได้อยู่แล้วว่า ความเห็นนี้ไม่อยู่กับร่องกับ รอยเพียงใด น่าแปลกหน่อยก็ตรงที่ว่าทำไมกล้าถึงขนาดนั้น
ท่านอธิการบดีฯยังได้ตั้งคำ ถามที่ดูเหมือนจะต้องการวางตัวให้เป็นผู้อาวุโสไปด้วยอีกคนว่า “เราจะ รักษาประเทศนี้ให้ดีได้อย่างไร ประเทศไทยจะกลายเป็นเลบานอนหรือไม่ จะเกิดสงครามกลางเมืองหรือไม่”
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้ ห่วงใยบ้านเมืองสมควรถาม แต่สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับ การรัฐประหาร และแก้ต่างให้กับระบบที่เต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรมและสองมาตรฐานแล้ว ท่านไม่ควรเป็นผู้ถามคำถามเหล่านี้เลย เพราะสิ่งที่ทำอยู่กำลังซ้ำเติมและเร่งให้ปัญหาที่ท่านถามถึงนั้นยิ่งแก้ยาก ขึ้นไปอีกเสียมากกว่า
ประเด็นที่ท่านอธิการบดีฯทิ้ง ท้าย ดูจะไม่ชัดเจนนักว่าต้องการอะไร แต่คิดว่ามีนัยสำคัญทีเดียว นั่นคือการอ้างถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่เขียนบทความโดยใช้ชื่อนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียกร้องในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองปี 2516 ว่า อาจารย์ป๋วยท่านเรียกร้องกติกาหมู่บ้าน เพื่อให้คนในหมู่บ้านยอมรับกติกาการอยู่ร่วมกัน
เหมือนกับจะอาศัยอาจารย์ป๋วย มาบอกว่าคนในประเทศนี้ วันนี้ ควรยอมรับกติกาของประเทศ คือรัฐธรรมนูญปัจจุบันและระบบกฎหมายอย่างที่เป็น อยู่ ทั้งๆที่อาจารย์ป๋วยเขียนจดหมายฉบับนั้นในขณะที่บ้านเมืองอยู่ใต้การ ปกครองของเผด็จการ ไม่มีรัฐธรรมนูญ ถ้าจะเอาข้อเรียกร้องของอาจารย์ป๋วยมาประยุกต์ใช้ในวันนี้ ที่ถูกแล้วควรตีความว่า บ้านเมืองทุกวันนี้ก็ไม่มีกติกาที่ดีสำหรับคนที่ อยู่ร่วมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกติกาที่ดีขึ้นมาใหม่ คล้ายๆกับที่เคยมีการ เรียกร้องกันมาในอดีตนั่นเอง
ประเด็นสุดท้ายของท่านอธิการ นี้ คนอาจไม่ถือเป็นสาระอะไรมาก แต่ความจริงก็ทำให้เราเห็นความแตกต่างระหว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอดีตกับปัจจุบันได้ดีทีเดียว
ที่สำคัญกว่านั้น การบิดเบือนทางความคิดและการทุจริตทางวาจาแบบนี้ กระทำโดยผู้ที่มีตำแหน่ง ฐานะอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยที่เคยโดดเด่นด้วยเกียรติภูมิอันสูงส่ง ว่าได้ยืนเคียงข้างความถูกต้องและเคียงบ่าเคียงไหล่ประชาชนตลอดมา แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศกำลังมองเห็นและใช้ ประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคมอย่างถึงที่สุด และน่าตกใจที่ชุมชนมหาวิทยาลัยและวงการวิชาการ ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น