วันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓

ความจริงVSความเท็จ:คดียึดทรัพย์ฉบับชาวบ้าน


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
11 กุมภาพันธ์ 2553

หมายเหตุไทยอีนิวส์:ไทยอีนิวส์ได้เรียบเรียงประเด็น"คดียึดทรัพย์ทักษิณ จะอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆได้อย่างไร?" จากการประมวลสรุปของคุณnirvana (คลิ้กดูรายละเอียด)มาเป็นคำถาม (Q:ข้อกล่าวหาของคตส.) และคำตอบ (A:คำอธิบายความจริง)โดยเพิ่มเติมบางประเด็น เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และง่ายต่อการเผยแพร่ยิ่งขึ้น หากท่านผู้อ่านเห็นด้วย กรุณาเผยแพร่สู่วงกว้างทุกวิถีทาง


Q:ก่อนทักษิณเป็นนายกฯมีเงินเพียง 3 หมื่นล้านบาท แต่ตอนขายหุ้นมีเงิน76,000ล้าน แสดงว่าโกงชาติ 4 หมื่นกว่าล้านบาท

A:ไม่ได้โกงชาติ แต่เนื่องจากทรัพย์สินของทักษิณเป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ช่วงที่ทักษิณเป็นนายกฯตั้งแต่ปี2544มาถึงวันขายหุ้นออกในต้นปี2549 ดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้น หุ้นบริษัทชินวัตรของทักษิณก็ขึ้นด้วย มูลค่าทรัพย์สินก็เลยเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้น

Q:ถ้างั้นก็จะให้ทักษิณคืนบางส่วนคือก่อนมาเล่นการเมือง3หมื่นล้านก็แล้วกัน ที่เหลือโกงชาติ4หมื่นล้านจะยึด

A:ก็บอกแล้วไงว่าไม่ได้โกง จะยึดหมดหรือยึดบางส่วนก็ย่อมไม่ได้ทั้งนั้นแหละ

Q:แต่ทักษิณใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯแก้ไขสัญญาสัมปทานลดส่วนแบ่งรายได้ให้ทศท. ทำให้รัฐสูญเสีย เป็นการโกงชาติ

A:คู่แข่งของบริษัทAIS(บริษัทในเครือชินวัตร)คือบริษัทDTACนั้นขอแก้ไขสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐก่อน โดยจ่ายให้18% ทางAISจึงขอลดตรงนี้บ้าง โดยจ่ายให้รัฐ20% ซึ่งก็ยังมากกว่าDTAC หากบริษัทเครือชินวัตรผิด DTACไม่ผิดหนักกว่าหรือ..

ขณะเดียวกันเมื่อลดค่าต๋งสัมปทานให้ทศท. ทำให้เอกชนมาลดค่าบริการลูกค้า ทำให้มีคนใช้บริการขยายตัวสูงขึ้น จึงทำให้AISสามารถจ่ายเข้ารัฐได้เพิ่มขึ้นทั้งในรูปของค่าต๋งสัมปทาน ภาษีสรรพสามิต ภาษีนิติบุคคลรวมเป็น52,708ล้านบาท (สูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการลดค่าสัมปทาน)

Q:ทักษิณใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯทำให้AISสามารถมียอดขายสูงขึ้น เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้านละ1ล้านมาซื้อมือถือของทักษิณ และทำให้มีรายได้สูงมากขึ้น

A:ช่วงที่ทักษิณเป็นนายกฯ(2544-2549)AISมีผู้ใช้มือถือข่ายนี้เพิ่มขึ้นจริงคือ524% หรือ 5 เท่าตัว แต่ข่ายอื่น(DTAC TRUE HUTCH TOT)ก็สูงขึ้นรวมกันถึง1,403% หรือ14เท่าตัว เหตุก็เนื่องจากเมื่อลดนำส่งรายได้เข้าทศท.แล้วทำให้ค่ายมือถือต่างๆมาโปรโมชั่นลดค่าบริการ ทำให้คนใช้มือถือเพิ่มมากขึ้น

ส่วนรายได้นั้นพบว่าเฉลี่ยช่วงที่ทักษิณเป็นนายกฯ รายได้ของAISกับDTACที่เป็นคู่แข่งขันสำคัญเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกัน คือAISเพิ่มขึ้นเฉลี่ย19% DTAC18%

Q:เพราะทักษิณเอื้อผลประโยชน์ ทำให้AISผูกขาดมือถือไว้เพียงเจ้าเดียว คนอื่นแข่งขันไม่ได้

A:หากไปดูส่วนแบ่งการตลาดจะพบว่างปีที่ทักษิณเป็นนายกฯอยู่ ส่วนแบ่งการตลาดลดลงด้วยซ้ำ เช่น ปี2549 AISมีส่วนแบ่งตลาดลดเหลือ49% จากปีก่อนมีส่วนแบ่ง54% เครือข่ายอื่นๆเพิ่มจาก46%เป็น51% ทั้งนี้การมีส่วนแบ่งการตลาดขึ้นกับคุณภาพ การบริการ และราคาเป็นหลัก เป็นไปตามกลไกตลาด


Q:เพราะทักษิณใช้อิทธิพลการเป็นนายกฯ ทำให้บริษัทชินวัตรสามารถจ่ายปันผลได้ปีละถึง40%

A:การจ่ายปันผลเท่าไหร่ เป็นนโยบายของแต่ละบริษัท บางบริษัทเช่นปูนซิเมนต์ไทยช่วงเวลาเดียวกันจ่ายสูงถึง60%

Q:ทักษิณออกพรบ.สรรพสามิต เพื่อกีดกันไม่ให้คู่แข่งขันรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจแข่งขัน

A:คนที่เดือดร้อนเรื่องนี้คือเสือนอนกินอย่างทศท. ไม่ใช่คู่แข่งขันรายใหม่ตามที่อ้างกัน สาเหตุที่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต เนื่องจากเดิมAISและบริษัทมือถือจ่ายค่าสัมปทานให้ ทศท.ทั้งหมด ต่อมาทศท.แปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน มาทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน(เช่นทำโทรมือถือแข่ง)จะให้เป็นเสือนอนกินรับค่าสัมปทานต่อย่อมไม่ได้ เป็นการเอาเปรียบ จึงออกกฎหมายจ่ายเข้าสรรพสามิตครึ่งหนึ่ง และจ่ายให้ทศท.เหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากเดิม แต่เงินก็ยังเข้ารัฐเท่าเดิม

ในช่วงปี2546-2551 AISจ่ายค่าสัมปทานให้ทศท.และกสท.84,000ล้านบาท และช่วงปี2546-2549จ่ายให้สรรพสามิต31,463ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนหลังนี้เข้ารัฐโดยตรง แต่ในส่วนที่จ่ายให้ทศท.นั้น คำถามคือทศท.ที่เป็นเสือนอนกินจ่ายเข้ารัฐเพียงบางส่วนเท่านั้น ทำไมต่อมารัฐบาลขิงแก่ยกเลิกสรรพสามิตไปจ่ายให้เสือนอนกินตามเดิม?

ส่วนผู้เข้ามาแข่งขันรายใหม่นั้นไม่ว่าจะมีภาษีสรรพสามิตหรือไม่ ก็ต้องจ่ายเข้ารัฐเท่าเดิม

Q:ทักษิณใช้อำนาจนายกฯให้EXIM BANKปล่อยกู้พม่า5พันล้านบาททำโครงการ แล้วพม่าก็มาซื้อสินค้าจากชินแซทเทิลไลต์(ดาวเทียมไทยคม) เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน โกงชาติ

A:เรื่องนี้เดิมEXIM BANKให้พม่ากู้4พันล้าน ต่อมาครม.ทักษิณให้กู้เพิ่มอีก1พันล้านบาท รวมเป็น5พันล้านบาท ความเสียหายก็ยังไม่เกิดขึ้น พม่าก็ไม่ได้ชักดาบไทย ไทยได้ประโยชน์อีกต่างหาก เช่น ปตท.ได้สัมปทานก๊าซจากพม่ามูลค่าหลายแสนล้านบาท ทำให้กิจการพลังงานไทยมั่นคง ความสัมพันธ์ไทย-พม่าก็ดี เมื่อพม่าได้เงินกู้จากEXIM BANKของไทย พม่าก็ต้องมาซื้อสินค้าจากบริษัทห้างร้านของไทยเป็นเงื่อนไขเหมือนเวลาไทยไปกู้ญี่ปุ่น เขาก็กำหนดว่าต้องซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น สรุปว่าเรื่องนี้ไทยมีแต่ได้กับได้ แต่มาโยนผิดว่าทักษิณผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ

Q:อย่างไรก็ตาม การที่ทักษิณเป็นนายกฯก็เอื้อประโยชน์บริษัทชินวัตรอยู่ดี ช่วงเป็นนายกฯเลยทำให้ชินวัตรหาประโยชน์หากำไรได้มากกว่าคนอื่น

A:ถ้าเช่นนั้นก็ต้องมาดูผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น คิดเป็น%เปรียบเทียบกับกิจการอื่นๆในตลาดหลักทรัพย์ช่วงเดียวกัน ในเวลาที่ทักษิณเป็นายกฯอยู่ ก็จะพบในเชิงเปรียบเทียบดังนี้

-ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใหญ่ มีอัตราผลตอบแทนสูงที่สุดคือ48%
-รองลงมา ปตท. ซึ่งกระทรวงคลังถือหุ้นใหญ่ มีอัตราผลตอบแทน 36%
-บริษัทนิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ ของนายวิกรม กรมดิษฐ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อัตราผลตอบแทน 30%
-บริษัทซีเอ็ด ที่เป็นร้านหนังสือ 28%
-AIS เพียง 25%
-บริษัทชินวัตรเพียง 20%
-ชินแซทเทิลไลต์ เพียง 13%


Q:ถึงอย่างนั้นก็เถอะ แต่หุ้นที่ทักษิณถืออยู่ก็สูงกว่าบริษัทอื่นๆ เพราะใช้ตำแหน่งนายกฯเอื้อประโยชน์ให้ราคาหุ้นได้

A:ถ้าอย่างนั้นจะเปรียบเทียบให้ดูว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทใดแพง หรือถูกในช่วงที่ทักษิณได้ขายหุ้นออกไปให้ดู โดยเทียบจากมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ก็จะพบว่า

-หุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย มีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นสูงที่สุดคือ 4.58 เท่า
-หุ้นบริษัทอมตะฯ 3.65 เท่า
-ส่วนหุ้นชินวัตรเพียง 2.94 เท่า


การที่หุ้นถูกหรือแพงไม่ได้เกี่ยวกับว่าเจ้าของหุ้นเป็นใคร เกี่ยวกับว่ามียอดขายดีไหม กำไรดีไหม ปันผลดีไหม คนที่ลงทุนไว้ประเมินว่ามีศักยภาพที่เติบโตและมั่นคงหรือไม่

Q:นี่กำลังจะบอกว่าทักษิณไม่ได้ใช้อำนาจอิทธิพลตำแหน่งนายกฯโกงชาติ ขายหุ้นให้สิงคโปร์ได้76,000ล้านใช่ไหม

A:เพราะบริษัทของทักษิณจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ราคาก็ขึ้นลงตามความเคลื่อนไหวของตลาด ตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และตามความสามารถของบริษัท

-ในปี2537 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่1,532จุด มูลค่าหุ้นของทักษิณ=118,000ล้านบาท
-พอฟองสบู่แตกปี40ตอนทักษิณมาเป็นนายกฯในปี2544 ดัชนีหุ้นลดลงเหลือ324จุด หุ้นของทักษิณลดลงมาเหลือเพียง=31,000ล้านบาท
-พอปี2549ที่ทักษิณขายหุ้นให้สิงคโปร์ เศรษฐกิจไทยฟื้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นขึ้นมาที่750จุด หุ้นของทักษิณฟื้นขึ้นมาขายได้=76,000ล้านบาท


พูดง่ายๆว่าหากย้อนเวลาไปได้ ตอนที่ทักษิณยังไม่มาเล่นการเมือง ไม่ได้มาเป็นนายกฯ ก็ขายได้ถึง111,8000ล้านบาท ดังนั้นไม่ได้เกี่ยวกับว่าทักษิณเป็นนายกฯหรือไม่ได้เป็นแล้วจึงขายได้ถูกหรือแพง เพราะหากบอกว่าทักษิณโกงชาติ ทำให้หุ้นขึ้นเยอะ ขายได้กำไรมาก อย่างนั้นไม่แปลว่า บริษัทในตลาดหุ้นที่ขึ้นเยอะนั้นโกงชาติกันหมดหรือ?

Q:ถึงจะไม่ได้โกงชาติ แต่การที่ทักษิณขายหุ้นชินวัตรให้สิงคโปร์ก็เท่ากับขายชาติ

A:เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าคู่แข่งขันของAISคือDTACเขาอยากขายหุ้นให้บริษัทจากนอร์เวย์เข้ามาถือหุ้นให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามต่างชาติถือหุ้นกิจการโทรคมนาคมได้ไม่เกิน25% โดยเคลื่อนไหวเรียกร้องมาตั้งแต่ปลายปี2544 ต่อมาTRUE TT&Tก็เรียกร้องทำนองเดียวกัน

DTACรอไม่ไหวก็ขายหุ้นให้นอร์เวย์เข้ามาถือหุ้นถึง38%ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ก่อนที่กฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นกิจการโทรคมนาคมได้เกิน25%มีผลบังคับใช้เมื่อ 21 มกราคม 2549

ทางชินวัตรค่อยขายให้สิงคโปร์ในวันที่ 23 มกราคม 2549 คือหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้...ใครทำผิด ใครทำถูก?

Q:ถ้าทักษิณไม่ผิดเลย แล้วทำไมคตส.ถึงได้สรุปว่าผิด

A:คตส.เป็นหน่วยงานที่คมช.ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร19กันยายน2549 นอกจากนำคนที่แสดงตนว่าเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองของทักษิณมาเป็นคณะกรรมการ อย่างนายนาม ยิ้มแย้ม นายสัก กอแสงเรือง นายแก้วสรร อติโพธิ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกาแล้ว ก็ยังต้องกล่าวอย่างถึงที่สุดด้วยว่านี่เป็นองค์กร และกระบวนการซึ่งมีที่มาจากการทำรัฐประหาร19กันยาฯ จึงไม่มีความชอบธรรมนับแต่ต้นอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิเลยที่จะดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของทักษิณ เพราะมีแรงจูงใจจากการต้องการโค่นล้มทำลายล้างทางการเมืองเป็นสำคัญ

Q:แต่อัยการก็สรุปสำนวนส่งฟ้องนะ อัยการไม่ได้มีที่มาจากการทำรัฐประหารซักหน่อย

A:แล้วไม่รู้หรือว่าอัยการที่เขาทำคดีอึดอัดแค่ไหนที่ต้องถูกแทรกแซงสารพัดจากอำมาตย์ใหญ่ที่กดดันให้เขาส่งฟ้องศาล ทั้งที่ผิดหลักนิติธรรม ทั้งที่อัยการต้องกลายมาเป็นเครื่องมือของอำมาตย์ ทั้งที่ศาลต้องตัดสินโดยที่ไม่รู้ว่าจะใช้ดุลพินิจที่เป็นอิสระได้เพียงใด

หากพูดอย่างถึงที่สุด คดีนี้ก็เป็นโมฆะมาแต่ต้นแล้ว เพราะคณะรัฐประหาร แต่งตั้งคตส.มาหาเรื่องกัน เพื่อโค่นล้มทำลายล้างทางการเมือง แม้มาถึงอัยการ หรือศาลจะตัดสินอย่างไร มันก็โมฆะมาแต่ต้น

Q:ในท้ายที่สุดก็คงมีคำตัดสินให้ยึดทรัพย์ทักษิณทั้งหมด ซึ่งก็จะเป็นการพิสูจน์ว่าทักษิณโกงชาติจริงๆ

A:อ้อ..มีธงกันอย่างนี้นี่เอง

Q:พวกเสื้อแดงมาเดือดร้อนอะไรด้วยกับการยึดทรัพย์ทีกษิณ แสดงว่าสู้เพื่อ(เงิน)คนๆเดียวหละซี้

A:มันเป็นเรื่องของความยุติธรรม.. ความไม่เป็นธรรมต่อคนๆหนึ่ง ก็ย่อมหมายถึงความไม่ยุติธรรมต่อคนทั้งแผ่นดิน.. ความอยุติธรรมต่อทักษิณ หมายถึงความอยุติธรรมต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศที่เลือกทักษิณขึ้นไปบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตยด้วย

เมื่อความเป็นธรรมไม่มี สามัคคีก็ไม่เกิด(NO JUSTICE , NO PEACE)


จะอธิบายเรื่องการยึดทรัพย์ทักษิณให้ชาวบ้านเข้าใจได้อย่างไร? (3)


โดย คุณnirvana
ที่มา บอร์ดนิวสกายไทยแลนด์

ประเด็นในข้อกล่าวหา

1. AIS ยึดครองตลาดธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศได้โดยเด็ดขาดแต่ผู้เดียว


ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2547 ของ AIS

ข้อสังเกต อัตราส่วนแบ่งการตลาดในปี 2549 ของ AIS ลดลงเมื่อเทียบกับ ปี 2548

ท่านดูส่วนแบ่งการตลาดมือถือ แล้วสรุปความเห็นเองแล้วกัน เพราะมันชัดเจน ท่านจะดุด่า ค.ต.ส. อย่างไร เชิญตามสบายครับ

2. ผู้ประกอบการรายใหม่ก็พบกำแพงภาษีสรรพสามิต 10% มาขวางกั้นทำให้ไม่สามารถเข้ามาแข่งกันโดยเต็มที่ได้

ไม่มีภาษีสรรพสามิต 10% ผู้ประกอบการรายใหม่ก็ต้องจ่าย 20% ของรายได้ (แบบเติมเงิน หรือ Prepaid) และ 25% ของรายได้ (แบบชำระค่าบริการหลังการใช้ หรือ Postpaid)

มีภาษีสรรพสามิต 10% ผู้ประกอบการรายใหม่ก็ต้องจ่าย 10% ของรายได้ (แบบเติมเงิน หรือ Prepaid) และ 15% ของรายได้ (แบบชำระค่าบริการหลังการใช้ หรือ Postpaid)

ไม่เห็นว่ามันจะต่างกันเลย

คตส. คิดได้งัยเนี่ย คิดไม่เหมือนคนเลย

ผู้ที่ขวางกั้นหรือกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่น่าจะเป็นปลิง 2 ตัวมากกว่า

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

ตัวท่านได้มีโอกาสพบผู้ประกอบการต่างประเทศและคนไทยที่ประสงค์ประกอบกิจการโทรคมนาคมมากมาย ไม่มีใครพูดเลยว่า การที่มีภาษีสรรพามิตจะทำให้เขาลังเลที่จะมาประกอบกิจการโทรคมนาคมในไทย ทุกคนบอกว่าเมื่อไหร่ที่ กทช.เปิดโอกาสให้สามารถขอใบอนุญาตได้เขาจะดำเนินการทันที และทำให้มีการบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นและราคาถูกลง ซึ่งวันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า รายใหม่ที่ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เริ่มเห็นแล้วว่าค่าบริการลดลงอย่างมากมาย



คลิ้กที่ภาพด้านล่างเพื่อขยาย หรือคลิ้กอ่านตามลิ้งค์





คลิ้กที่ภาพเพื่อขยายให้ใหญ่

อ่านบทความชุดนี้ในตอนที่ผ่านมา:จะอธิบายเรื่องการยึดทรัพย์ทักษิณให้ชาวบ้านเข้าใจได้อย่างไร?


จะอธิบายเรื่องการยึดทรัพย์ทักษิณให้ชาวบ้านเข้าใจได้อย่างไร? (2)


โดย คุณnirvana
ที่มา บอร์ดนิวสกายไทยแลนด์


อยากจะให้อธิบายให้พวกพันธมิตรที่เพื่อนๆรู้จักได้เข้าใจ สำหรับคนจนหรือคนรากหญ้าหรือคนเสื้อแดงทั้งหลายนั้น ไม่มีใครเชื่อข้อกล่าวหาต่างๆที่ท่านทักษิณโดน ถ้ามีโอกาส น่าจะอธิบายให้คนจน คนรากหญ้า หรือ คนเสื้อแดงไ ด้รู้เช่นกัน

เผื่อว่ามีคนกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเชื่อทักษิณอย่างงมงาย คนเสื้อแดงก็จะสามารถโต้ตอบคนกล่าวหาได้

การวิเคราะห์ สาเหตุที่ทำให้ รายได้ AIS ในปี 45 เพิ่มขึ้นจากปี 44 ถึง 39% ในขณะที่ DTAC เพิ่มขึ้นเพียง 14%

การแก้ไขสัญญาเรื่องการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ TOT

DTAC ได้รับการแก้ไขสัญญาก่อน AIS กล่าวคือ วันที่ที่ได้รับการแก้ไขสัญญา: DTAC 1 เม.ย. 2544 / AIS 15 พ.ย. 2544

การแก้ไขสัญญาลดการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ฯ นำไปสู่การลดราคา และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ ซึ่งในปี 2544 DTAC จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้ เป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งจะมีผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2543

แต่ AIS ได้รับประโยชน์เพียง 1.5 เดือน มีผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นน้อยเมื่อเทียบกับปี 2543 ดังนั้น เมื่อนำเอารายได้ปี 2545 มาเทียบกับปี 2544 ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้เพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะเราใช้ยอดรายได้ของปี 2544 เป็นตัวหารเพื่อคำนวณเปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับผู้ที่ไม่สันทัดวิชาคำนวณ

เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ขอสมมติดังนี้ก็แล้วกัน


ถ้า AIS ได้รับการแก้ไขสัญญาในวันเดียวกันกับ DTAC คือ 1 เม.ย. 2544 รายได้ปี 2544 ของ AIS จะต้องมากกว่า 39,170 ล้านบาท สมมติรายได้ปี 2544 เท่ากับ 47,000 ล้านบาท

รายได้ปี 2545 เพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับปี 2544) เท่ากับ 16%
[(54,438 – 47,000) ÷ 47,000 x 100]

ตั้งแต่ปี 2544 – 2548 รายได้เพิ่มขึ้น (ลดลง) เป็นเปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับปีก่อน
AIS : 39% , 24% , 15% , -4% DTAC : 14% , 20% , 25% , 11%

ถ้ามองในภาพรวม (ปี 2544 – 2548) รายได้แต่ละบริษัทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกี่เปอร์เซนต์
เมื่อใช้ค่าเฉลี่ย (รวม 4 ยอด แล้วหารด้วย 4)

รายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน : AIS 19% , DTAC 18%
เมื่อใช้ค่ามัธยฐาน (ค่าตรงกลาง)

รายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน : AIS 19.5% , DTAC 17.0%

เมื่อนำหลักทางวิชาการเงินมาประยุกต์ใช้ (ไม่ขออธิบาย เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน)
รายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน : AIS 17.59% , DTAC 17.54%

ถ้าเปรียบเทียบรายได้ ปี 2548 กับ ปี 2544
รายได้ปี 2548 เพิ่มขึ้นจากปี 2544 : AIS 91.18% , DTAC 90.88%

ข้อสรุปเรื่องรายได้ของบริษัท AIS

การวิเคราะห์ตัวเลขที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ของ AIS อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ DTAC อย่างไรก็ตาม ถ้าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ของ AIS สูงกว่า DTAC ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันมีเรื่องของคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ประเด็นที่ คตส เขียนไว้ในข้อกล่าวหาข้อ 1 บริษัท เอไอเอส นั้น ก็พบว่ามีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเป็นยุติธรรมอยู่ตรงไหน? ขอหน่อยได้ไหม? ให้คนเสื้อแดง

อีกประเด็นหนึ่งที่เขียนไว้ในข้อกล่าวหา …..และมีอัตราคืนทุนที่งดงามจนประกาศจะจ่ายปันผล 40% ของกำไรสะสมได้ทุกปี (ทีถูกน่าจะเป็น 40% ของกำไรสุทธิ)

จะจ่าย 40% ของกำไรสุทธิไม่เห็นจะแปลกตรงไหน เพราะเป็นเรื่องของนโยบายด้านเงินปันผลที่กำหนดไว้ เมื่อจ่ายจริงอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ จ่าย 40% ต้องชิดซ้ายไปเลย บางบริษัทจ่ายสูงเกินกว่า 60% ก็มี เช่น ปูนซิเมนต์ไทย อัตราจ่ายเงินปันผลปี (2546 – 2549) 36.1% , 49.3% , 55.8% , 61.2% (ข้อมูลนำมาจากรายงานประจำปี 2550 ของ บ.ปูนซิเมนต์ไทย)

อีกประเด็นหนึ่งที่เขียนไว้ในข้อกล่าวหา…..ส่วนอีกสองบริษัทก็พยายามดิ้นรนแข่งขันจนถึงระดับที่แทบจะไม่มีกำไร....

กำไรสุทธิของ DTAC ปี 2544 – 2549
1,822 / 2,082 / 2,587 / 4,480 / 4,611 / 4,938 ล้านบาท
(ตัวเลขจากงบการเงินที่อยู่ในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.)

มุสาวาทา เวรมณี

ท่านนายกทักษิณไม่ได้ถือหุ้นโดยตรงใน AIS แต่ท่านเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (50%) และ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือหุ้นใน AIS 43% , บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด 51% และอีกหลายบริษัท(ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2547)

ถ้าถามว่าท่านนายกทักษิณถือหุ้นใน AIS กี่เปอร์เซนต์ คำตอบก็คือ 21.5% (43% x 50%) เป็นการถือหุ้นทางอ้อม

บางคนอาจไม่เข้าใจการถือหุ้นหมายความว่าอย่างไร

ขอยกตัวอย่างง่ายๆแบบนี้ก็แล้วกัน

บริษัทเปิดใหม่แห่งหนึ่งต้องการเงินทุนในการดำเนินกิจการ 1,000,000 บาท(แบ่งเป็น 1,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท) นำหุ้นออกเสนอขาย นายสมชายซื้อหุ้น 600,000 หุ้น นายเอกซื้อ 10 หุ้น ที่เหลืออีก 399,990 หุ้นมีผู้ซื้อครบ ทั้งนายสมชายและนายเอกต่างก็เป็นเจ้าของบริษัทเหมือนกัน นายสมชายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ถือหุ้น 60%) ส่วนนายเอกเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย


ผมมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ AIS และ DTAC ไม่ได้เชียร์ AIS และไม่ได้มีอคติกับ DTAC แต่วิเคราะห์ข้อมูลตามข้อเท็จจริงในฐานะนักบัญชีผู้หนึ่งเท่านั้น

เพราะความเห็นส่วนใหญ่ที่นำสู่สังคม มักจะเป็นความเห็นของนักกฎหมาย ผมคิดว่าในโอกาสต่อไปจะแสดงความเห็นเรื่องการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เรื่องของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด การเปรียบเทียบผลตอบแทนของAIS ชินคอร์ป กับ กิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น ธนาคาร พลังงาน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อดูว่ากิจการในประเภทอื่นๆ มีความเจริญเติบโตหรือผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อเทียบกับกิจการของนายกทักษิณ มีลักษณะเป็นอย่างไร เพราะมีการกล่าวหาว่า กิจการของท่านเติบโตมากกว่ากิจการอื่นๆ

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องของการเงินหรือการบัญชีสามารถที่จะเข้าความเห็นของผมได้
ผมขอปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการเงินหรือการบัญชีก่อน

ฐานะการเงินของส่วนบุคคล

สมมตินักการเมืองคนหนึ่งก่อนเล่นการเมือง

-มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 500,000 บาท
-มีที่ดิน บ้าน รถยนต์ และอื่นๆ ซึ่งตีราคาได้ 7,500,000 บาท
-รวมทรัพย์สินทั้งหมดคือ 8,000,000 บาท
-มีหนี้สินรายการเดียวคือ หนี้ธนาคาร 1,000,000 บาท

ดังนั้นสินทรัพย์สุทธิจะเท่ากับ 7,000,000 บาท (เรียกว่า ส่วนของตัวเอง)

ในทางบัญชีเรียกใช้คำว่า “สินทรัพย์” แทน “ทรัพย์สิน”
ในงบดุลจะแสดง 3 รายการคือ สินทรัพย์ หนี้สิน และ ส่วนของผู้ถือหุ้น
ส่วนของผู้ถือหุ้น เปรียบได้กับ ส่วนของตัวเอง
(ซึ่งเท่ากับ ยอดรวมของสินทรัพย์ หักด้วย ยอดรวมหนี้สิน)

ส่วนของผู้ถือหุ้นแยกเป็น 2 รายการใหญ่คือ ทุนเรือนหุ้น และ กำไรสะสม
ยกตัวอย่างกำไรสะสม สมมติว่าเราซื้อหุ้นบริษัทที่เปิดใหม่ 1 หุ้น
ราคาหุ้นละ 100 บาท สิ้นปีที่ 1, 2, 3 มีกำไรสุทธิต่อหุ้น (หลังจ่ายภาษี)
30 บาท, 20 บาท, 40 บาท ยังไม่ได้การจ่ายเงินปันผลทั้ง 3 ปี
ดังนั้นกำไรสะสมเมื่อสิ้นปีที่ 1, 2, 3 จะเท่ากับ 30 บาท, 50 บาท, 90 บาท
มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value Per Share) ณ สิ้นปีที่ 3 = 100 + 90 = 190 บาท
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ 100 บาทคือเงินลงทุนเริ่มแรก
ส่วนอีก 90 บาทเป็นกำไรสุทธิของ 3 ปีรวมกันโดยที่ไม่ได้จ่ายผลตอบแทน
ในรูปเงินปันผลให้กับผู้ลงทุน (ผู้ถือหุ้น) เลย

พูดภาษาชาวบ้านก็คือนำเอากำไรไปลงทุนต่อ แต่นักบัญชีเขาไม่เรียก 190 บาทว่า “เงินลงทุน” แต่เรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น”
(จริงๆแล้ว ส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ได้มีแค่ 2 รายการนี้เท่านั้น แต่ยังมีรายการอื่นๆอีก เช่น ส่วนเกินมูลมูลค่าหุ้น)

ข้อกล่าวหาของ คตส. (ต่อ)

ภาพด้านบนเป็นของคุณ Jampoon ที่โพสท์ไว้ในห้องราชดำเนิน (PANTIP) วันที่ 15 ม.ค. 53

เรื่องนี้ไม่ได้แก้ไข แต่เป็นการเพิ่มเติมส่วนแบ่งรายได้ให้กับ TOT ทั้งนี้สืบเนื่องจาก TOT ไม่สามารถติดตั้งขยายระบบสื่อสัญญาณ (Transmission Networks) ได้ทันต่อการขยายสถานี (Base Station) เพื่อบริการแก่ประชาชนผู้ใช้บริการของ AIS ได้ทัน

AIS จึงได้ขออนุญาตลงทุนขยายระบบสื่อสัญญาณ (Transmission Networks) ในส่วนที่ TOT ไม่สามารถจัดสร้างได้ทัน และยกให้เป็นทรัพย์สินของ TOT ในทันทีที่เปิดใช้บริการ

ซึ่งเป็นไปตามสัญญาร่วมงานแบบสร้าง-โอน-ดำเนินงาน (BTO: Build-Transfer-Operate)

โดยที่ AIS มีสิทธิใช้ระบบสื่อสัญญาณ (Transmission Networks) จนกว่าจะหมดอายุสัมปทาน

ต่อมาปรากฏว่ามีส่วนที่เหลือใช้ซึ่ง TOT และ AIS มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะให้ประชาชน หน่วยงานอื่นๆ หรือ บริษัทเอกชนต่างๆ สามารถขอเช่าใช้ได้ TOT จึงได้กำหนดส่วนแบ่งรายได้ขึ้นมาใหม่ โดย

กรณีเป็น ”ผู้ใช้บริการของ TOT” TOT ได้รับร้อยละ 25 AIS ได้รับร้อยละ 75 ตลอดอายุสัญญา
กรณีเป็น ”ผู้ใช้บริการของ AIS” TOT ได้รับร้อยละ 22 AIS ได้รับร้อยละ 78 ตลอดอายุสัญญา

ซึ่ง AIS มีหน้าที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซมระบบสื่อสัญญาณ (Transmission Networks) นั้นตลอดจนอายุสัญญา

เรียบเรียงข้อมูลจาก http://shincase.googlepages.com/indictmentinvolvingonais

ก่อนที่ผมจะไปวิเคราะห์ข้อกล่าวหาข้อ 3 ของค.ต.ส. เรื่องการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ขอสรุปผลการวิเคราะห์หรือข้อเท็จริงเรื่องการลดค่าสัมปทานก่อน

1. อัตราค่าสัมปทานที่กำหนดขึ้นใหม่ในปี 2544:

AIS จ่ายร้อยละ 20 ของรายได้ ส่วน DTAC จ่ายร้อยละ 18 ของรายได้

2. ยอดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2549 เมื่อเทียบปี 2544 :

AIS เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า @@@ ค่ายอื่นรวมกันเพิ่มขึ้นประมาณ 14 เท่า (จะต้องมีหนึ่งค่ายที่มียอดเพิ่มขึ้นมากกว่า 14 เท่า)

3. ประเด็นหนึ่งที่เขียนไว้ในข้อกล่าวหา
“...บริษัท เอไอเอส นั้น ก็พบว่ามีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ…”


ผลการวิเคราะห์

อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ เมื่อเทียบกับปีก่อน

AIS อยู่ในช่วงประมาณ 18% – 20% @@@ DTAC อยู่ในช่วงประมาณ 17% – 18%

อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ปี 2548 เทียบกับ ปี 2544

AIS เพิ่มขึ้น 91.18% @@@ DTAC เพิ่มขึ้น 90.88%

อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ AIS จะต่ำกว่าที่แสดงไว้ ถ้า AIS ได้รับการลดค่าสัมปทานพร้อมกับ DTAC (จากการวิเคราะห์ที่ผ่านมา)

อัตราการเพิ่มรายได้ของ AIS สูงกว่า DTAC ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมันมีเรื่องของคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

4. อีกประเด็นหนึ่งที่เขียนไว้ในข้อกล่าวหา
…..และมีอัตราคืนทุนที่งดงามจนประกาศจะจ่ายปันผล 40% ของกำไรสะสมได้ทุกปี(ทีถูกน่าจะเป็น 40% ของกำไรสุทธิ)


ข้อเท็จจริง จะจ่าย 40% ของกำไรสุทธิไม่เห็นจะแปลกตรงไหน เพราะเป็นเรื่องของนโยบายด้านเงินปันผลที่กำหนดไว้ เมื่อจ่ายจริงอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ จ่าย 40% ในปี 2549 บ. ปูนซิเมนต์ไทย จ่ายเงินปันผลสูงถึง 61% ของกำไรสุทธิ

5. อีกประเด็นหนึ่งที่เขียนไว้ในข้อกล่าวหา

…..ส่วนอีกสองบริษัทก็พยายามดิ้นรนแข่งขันจนถึงระดับที่แทบจะไม่มีกำไร....


ข้อเท็จริง กำไรสุทธิของ DTAC ปี 2544 – 2549 มีกำไรทุกปี อยู่ในช่วง 1,822 – 4,938 ล้านบาท

เมื่อคืนดูคุณปลื้มพูดที่ People Channel ในรายการของคุณศุภรัตน์ คุณปลื้มพูดถึงเรื่อการยึดทรัพย์ของนายกทักษิณ โยงมาที่เรื่องเกี่ยวกับค่าสัมปทานมือถือ แล้วก็บอกว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากคือ DTAC ซึ่งเหมือนกับที่ผมได้วิเคราะห์

ต่อไปผมจะไปวิเคราะห์ข้อกล่าวหาข้อ 3 ของค.ต.ส. เรื่องการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากข้อกล่าวหาข้อ 1

กล่าวอย่างย่อก็คือ ในปี 2544 ลดค่าสัมปทานให้แก่ผู้ประกอบการมือถือ ต่อมาในปี 2546 กำหนดให้ค่าสัมปทานที่ผู้ประกอบการมือถือต้องจ่ายให้กับ ทศท (TOT) หรือ กสท. มาแต่เดิมนั้น ให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน (ประมาณครึ่งๆ) ส่วนแรกจ่ายให้กับ ทศท (TOT) หรือ กสท ส่วนที่สองจ่ายให้กับรัฐ (กรมสรรพสามิต)

ข้อกล่าวหาของ ค.ต.ส.

ภาพของคุณ Jampoon ที่โพสท์ไว้ในห้องราชดำเนิน (PANTIP) วันที่ 15 ม.ค. 53

ผมขอแยกออกเป็น 2 ประเด็น

1. AIS ยึดครองตลาดธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศได้โดยเด็ดขาดแต่ผู้เดียว
2. ผู้ประกอบการรายใหม่ก็พบกำแพงภาษีสรรพสามิต 10% มาขวางกั้นทำให้ไม่สามารถเข้ามาแข่งกันโดยเต็มที่ได้


ก่อนที่ผมจะแสดงความเห็นในแต่ละประเด็น ขอลำดับเหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อน

*ปี 2544 มีการแก้ไขสัญญาเพื่อลดค่าสัมปทาน โดย DTAC ต้องจ่าย (ให้แก่ กสท.) ในอัตราร้อยละ 18 ของรายได้
ส่วน AIS ต้องจ่าย (ให้แก่ ทศท.) ในอัตราร้อยละ 20 ของรายได้

*ปี 2545 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท) แปลงสภาพเป็นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักในด้าน
โทรคมนาคมทุกประเภท

เมื่อ ทศท แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้ว และยังคงได้รับค่าสัมปทาน (ส่วนแบ่งรายได้) จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไป

ผลการดำเนินงานของทีโอทีที่รายงานออกมา จะเป็นเสมือนภาพลวงตา (แม้ว่าการดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีกำไรมาก) โดยที่ส่วนหนึ่งของกำไรมาจากรายได้ค่าสัมปทานที่ได้รับ เป็นรายได้ที่ไม่มีต้นทุนเกิดขึ้นเลย (พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆว่า “ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย นอนอยู่เฉยๆก็ได้รับเงิน”)

แล้วทีโอทีก็นำเงินค่าสัมปทานที่ได้รับมาเป็นเงินทุนในการทำธุรกิจแข่งขันกับบริษัทอื่นๆที่ทำธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมเหมือนกับตน

ทีโอทีไม่ควรเป็นผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอีกต่อไป ควรเป็นผู้ประกอบเพียงอย่างเดียว

รัฐบาลของท่านนายกทักษิณจึงได้ออก พรก. แก้ไขเพิ่มเติม พรบ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตโดยให้เก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรศัพท์เคลื่อน 10% ของรายได้ และให้นำเอาภาษีสรรพสามิตไปหักจากค่าสัมปทานที่ค่ายมือถือต่างๆต้องจ่ายให้กับ ทีโอที หรือ กสท.

พูดง่ายๆก็คือ เดิมค่ายมือถือต่างๆจ่ายค่าสัมปทานทั้งหมดให้กับ ทีโอที หรือ กสท เปลี่ยนเป็น แบ่งค่าสัมปทานออกเป็น 2 ก้อน (ยอดแต่ละก้อนไม่ต่างกันมากนัก)

ก้อนหนึ่งให้กับ ทีโอที หรือ กสท อีกก้อนหนึ่งจ่ายให้กรมสรรพสามิต ก้อนที่จ่ายให้กรมสรรพสามิตต้องจ่ายเป็นรายเดือน

ไม่ว่าจะแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตหรือไม่ก็ตาม ค่ายมือถือต่างๆยังคงต้องจ่ายค่าสัมปทานเท่าเดิม

อัตราค่าสัมปทานที่ต้องจ่าย : ระบบเติมเงิน หรือ Prepaid 20% ของรายได้ , ระบบชำระค่าบริการหลังการใช้ หรือ Postpaid 25% ของรายได้

เช่น รายได้ (ระบบเติมเงินและระบบชำระค่าบริการหลังการใช้) เดือนละ 100 ล้านบาท (ทั้งปี 1,200 ล้านบาท) ดังนั้น แต่ละเดือน จะต้องจ่ายให้กรมสรรพสามิต 10%ของรายได้ คือ 10 ล้านบาท (ทั้งปี 120 ล้านบาท) นั่นคือ ก้อนแรกจ่ายให้สรรพสามิตไปแล้ว 120 ล้านบาท

ก้อนที่สองต้องที่จ่ายให้ ทีโอที หรือ กสท ตอนสิ้นปี ต้องคำนวณหาค่าสัมปทานที่ต้องจ่าย แล้วหักด้วย ภาษีสรรพสามิตที่ได้จ่ายไปแล้ว (120 ล้านบาท) ผลลัพธ์ก็คือ ส่วนที่ต้องจ่ายให้ทีโอที หรือ กสท.

สมมติว่าคำนวณค่าสัมปทานได้ 265 ล้านบาท (20% ของรายได้แบบเติมเงิน บวก 25% ของรายได้แบบชำระค่าบริการหลังการใช้) สิ้นปีต้องจ่ายให้ ทีโอที หรือ กสท 145 ล้านบาท (265 – 120)

ขอสรุปอีกที

ถ้าเป็นแบบเดิม (ไม่มีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต) จ่ายให้ ทีโอที หรือ กสท ตอนสิ้นปี 265 ล้านบาท

เมื่อแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต จ่ายให้กรมสรรพสามิต 120 ล้านบาท และ ทีโอที หรือ กสท. 145 ล้านบาท

ไม่ว่าจะมีการแปลงค่าสัมปทานหรือไม่ก็ตามบริษัทมือถือยังคงจ่ายเท่าเดิม

ผู้ที่เสียประโยชน์จากการแปลงค่าสัมปทานก็คือ ทีโอที และ กสท. ที่เป็นปลิงดูดเลือดคนไทยมานาน ดูดเลือดได้น้อยลง

สำหรับความเห็นของผม น่าจะแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตทั้งร้อยเปอร์เซนต์เลย คือไม่ต้องจ่ายให้กับ ทีโอทีและกสท.เลย
แต่นำไปจ่ายเป็นภาษีสรรพสามิตแทน

ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรายได้ (ภาษี) ส่วนนี้ไปใช้จ่ายได้ทุกเดือน เฉพาะของ AIS บริษัทเดียว กรมสรรพสามิตจะได้รับประมาณเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

เพราะตั้งแต่ปี 2546 – 2551 AIS จ่ายผลตอบแทนรายปี (ค่าสัมปทาน) ให้แก่ ทีโอที และ กสทและภาษีสรรพสามิตรวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่าหนึ่งแสนล้านบาท (ไม่รวมภาษีเงินได้นิติบุคคล)

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งรัฐบาลขิงแก่ได้ยกเลิกภาษีสรรพสามิตส่วนนี้ไปแล้ว ภาษีที่กรมสรรพสามิตเคยได้รับจาก AIS ประมาณเดือนละ 700 ล้านบาท ได้กลับไปเข้าที่ ทีโอที และ กสท. เช่นเดิม รัฐบาลขิงแก่ชอบเลี้ยงปลิงดูดเลือด

รายได้ของโอที และ กสท แยกออกได้เป็น 2 ส่วน คือ รายได้ค่าสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ รายได้ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจด้วยตัวเอง เงินค่าสัมปทานที่ทีโอทีและกสท.ได้รับนั้น ไม่ได้จ่ายกลับคืนมาให้กระทรวงการคลังทั้งหมด

รายได้ค่าสัมปทานที่ ทีโอที และ กสท ได้รับ คิดเป็น 25% – 30% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ทีโอทีและกสท.จึงจะจัดสรรกำไรให้กับกระทรวงการคลังในรูปของเงินปันผล

ตั้งแต่ปี 2546 – 2551 เฉพาะ AIS บริษัทเดียว จ่ายค่าสัมปทานให้ ทีโอที และ กสท รวมเป็นเงินประมาณ 84,000 ล้านบาท และจ่ายภาษีสรรพสามิต 31,463 ล้านบาท (ปี 2546 – 2549)

คำถามก็คือ รายได้ค่าสัมปทานที่ทีโอที และ กสท .ได้รับ 84,000 ล้านบาทนี้ ทีโอทีและกสท นำไปจ่ายให้กระทรวงการคลังเท่าใด (ในตอนต่อๆไปผมจะวิเคราะห์ให้ทราบ)

เรื่องของปลิงดูดเลือด

ปี 2551 ทีโอทีเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้ AIS ชำระเงินส่วนแบ่งรายได้ (ค่าสัมปทาน) เพิ่มเติมอีกจำนวน 31,463 ล้านบาท และ กสท เรียกร้องให้ DTAC ชำระเงินส่วนแบ่งรายได้ (ค่าสัมปทาน) เพิ่มเติมอีกจำนวน 23,164 ล้านบาท

โดยอ้างว่า AIS และ DTAC ชำระค่าสัมปทานไม่ครบถ้วน ซึ่งจำนวนเงินที่เรียกร้องให้ AIS และ DTAC ชำระเพิ่ม ก็คือ จำนวนเดียวกันกับภาษีสรรพสามิตที่ได้จ่ายเมื่อปี 2546 – 2549

ดูดเลือดเก่งจริงๆ


....
บทความชุดนี้

-จะอธิบายเรื่องการยึดทรัพย์ทักษิณให้ชาวบ้านเข้าใจได้อย่างไร? (ตอนที่1)


สังคมข่าวชาวเสื้อแดง(11ก.พ.):แม้ว NEVER DIE


โดย นักข่าวชาวรากหญ้า
11 กุมภาพันธ์ 2553

***สังคมข่าวชาวเสื้อแดง ประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ฝากข่าวคราว กิจกรรม รูปถ่าย คลิปข่าวได้ตามเคยที่ thaienews99@googlegroups.com เหมือนเดิม...ลงฟรีๆไม่มีเสียตังค์จ้า***


***กลุ่มคนเสื้อแดงราชบุรี ทำโครงการ"แดงถึงหมู่บ้าน จานดาวเทียมถึงชุมชน" เพื่อเป็นการเพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการขยายโอกาสในการรับข้อมูลข่าวสารของชาวบ้านผ่านจานดาวเทียม และขยายเครือข่ายจัดตั้งมวลชนคนเสื้อแดง และสนับสนุนให้ชุมชนได้มีโอกาสรับชมทีวีช่องพีเพิลแชนเนล ผ่านทางจานดาวเทียมที่กลุ่มมอบให้ไว้กับชุมชน

ในภาพ นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล ประธานกลุ่มและคณะกรรมการกลุ่ม ได้มอบจานดาวเทียมให้กับชุมชน หมู่ที่5 ต.เขาแร้งอ.เมืองจ.ราชบุรี พร้อมกับพบปะพูดคุยกับชาวบ้านเมื่อ 9 ก.พ.2553***

***นปช.กลุ่มที่4ภาคตะวันตก (แดงทั้งแผ่นดิน) โดยการนำของ สจ.สุทัศน์ ในฐานะประธานกลุ่มฯ ขอเชิญแกนนำกลุ่มต่างๆในเขตภาคตะวันตก ร่วมประชุม ซึ่งมีวาระการประชุมต่างๆเพื่อวางยุทธศาสตร์และกำหนดยุทธวิธีแนวทางในการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ที่กำลังจะมาถึง จึงขอเรียนแจ้งประกาศมาถึงแกนนำกลุ่มต่างๆทุกกลุ่มเพื่อทราบ และเข้าประชุมโดยพร้อมเพียงกัน ในวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศาลาเขาแก่นจันทร์ เมืองราชบุรีเวลา 13.00น. (มองข้ามทุกสิ่งผ่าน อุดมการณ์คนเสื้อแดง..ความรู้บวกวุฒิภาวะ จักลดละแย่งหน้าตากัน)ติดต่อคุณบริบูรณ์081-8907921***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น