Thu, 2010-02-04 22:50
นักสิทธิมนุษยชนไทย-องค์กรสตรี กะเหรี่ยงแถลงข่าวเรียกร้องนายกรัฐมนตรี-สมช.-และทหารระงับการส่งผู้ลี้ภัย ชาวกะเหรี่ยงที่ จ.ตาก กลับพม่า “สุรพงษ์ กองจันทึก” ติรัฐบาลช่วยเฮติได้ แต่กับผู้ลี้ภัยข้าวสักกระสอบก็ไม่เคยให้แถมจะส่งไปเผชิญความตาย จี้รัฐบาลต้องมีนโยบายผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยทหารทำ ชี้กรณีส่งม้งกลับลาวก็เกิดปัญหาแล้ว ด้าน “กลุ่มเพื่อนพม่า” จะยื่นหนังสือถึงมาร์คเช้าพรุ่งนี้
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (4 ก.พ.52) กลุ่มเพื่อนพม่า องค์กรสตรีกะเหรี่ยง และศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน จัดการแถลงข่าว ขอให้ระงับชั่วคราวการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว บ้านหนองบัว ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ณ ห้องประชุมสุจิตรา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กทม.
จากการที่กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกำหนดดำเนินการผลักดันผู้ลี้ภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง จโดยผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ทั้งหมด ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 โดยปฏิบัติการเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยจะเริ่ม ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.นี้เป็นต้นไป ท่ามกลางความหวั่นวิตกของนักสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องถึงความ ปลอดภัย
โดยผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว อพยพเข้ามาหลังเกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู (Karen National Union: KNU) และกองทัพรัฐบาลพม่าที่สนธิกำลังกับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ ดีเคบีเอ (Democratic Karen Buddhist Army: DKBA) เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา
นางบลูมมิ่ง ไนท์ (Blooming Night) เลขาธิการร่วมองค์กรสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women Organization) กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่าได้มีชาวบ้านบางส่วนที่ได้ข้ามกลับไปดูแล สัตว์เลี้ยงที่ทำกินของตนเองและเหยียบกับระเบิด บาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 5 คน ซึ่งทั้งนี้เป็นเด็กชายอาย 13 ปีที่เหยียบระเบิดขาขาดไปเมื่อเดือนสิงหาคม และหญิงมีครรภ์ 8 เดือนที่พึ่งเหยียบกับระเบิดเท้าขาดไปเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา บาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 5 คน ทำให้ชาวบ้านไม่อยากจะข้ามกลับไปเพราะเกรงกลัวอันตรายจากกับระเบิด
บลูมมิ่ง กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมามีความพยายามในการส่งกลับผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว แต่ได้มีการออกมาคัดค้านจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องทำ ให้ต้องหยุดไป ส่วนในครั้งนี้ กลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกที่จะถูกส่งกลับในวันพรุ่งนี้ (5 ก.พ.) มีทั้งหมด 35 ครอบครัว หรือกว่า 160 คน
นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวให้ข้อมูลว่าจากการลงพื้นที่ จ.ตาก และได้เข้าไปยังพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง พบว่าทั้ง 2 แห่ง มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่รวม 1,723 คน โดยพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัวมีผู้ลี้ภัยทั้งหมด 730 คน (146 ครอบครัว) อยู่ภายใต้การดูแลของทหารพราน กะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงคริสต์ ส่วนที่พื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านแม่อุสุทะมีผู้ลี้ภัยทั้งหมด 993 คน (201 ครอบครัว) ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงพุธ
ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวด้วยว่า การเร่งผลักดันผู้ลี้ภัยเหล่านี้ออกนอกประเทศจะเกิดผลเสียคือ ผู้ลี้ภัยอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตจากระเบิดจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานทหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น KNU,DKBA หรือทหารไทย ไม่เคยพูดถึงความไม่ปลอดภัยจากกับระเบิดในพม่าเลย และการผลักดันผู้ลี้ภัยออกจากพื้นที่นั้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ส่งผล ให้มีปัญหาในระยะยาวอื่นๆ ตามมา เพราะผู้ลี้ภัยจะกลับเข้ามาประเทศไทยใหม่โดยกลายเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิด กฎหมายที่หลบซ่อน นำไปสู้ปัญหาการค้ามนุษย์ และรัฐไม่สามารถตรวจสอบควบคุมได้ นอกจากนั้นขณะที่สังคมไทยกำลังรณรงค์ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เฮติ การไม่ช่วยเหลือและส่งกลับผู้ลี้ภัยจากพม่าจะทำให้ประเทศไทยถูกตำหนิจากนานา ประเทศ และอาจมีมาตรการที่ลงโทษประเทศไทยได้
“การรณรงค์ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เฮติเป็นเรื่องที่ดี แต่เรามีผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือ ทั้งที่ผลกระทบมีมากกว่าคนเฮติที่อยู่ห่างไกล และนอกจากไม่ช่วยเหลือแล้วข้าวสารสักกระสอบก็ไม่เคยส่งไปให้กับผู้ลี้ภัยเลย อีกทั้งยังผลักเขาไปส่ความตาย” นายสุรพแสดงความเห็น
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกองทัพไทย โดยขอให้ 1.ยุติการกดดันผู้ลี้ภัยเพื่อให้ทนอยู่ในประเทศไทยไม่ได้และจำต้องกลับไป เสี่ยงความตาย โดยอ้างว่าผู้ลี้ภัยสมัครใจเดินทางกลับ 2.ชะลอการส่งผู้ลี้ภัยกลับจนกว่าจะมีการเคลียร์กับระเบิดเรียบร้อยแล้ว 3.ให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศและระดับสากลเข้าไปให้ความช่วย เหลือผู้ลี้ภัย และ 4.ดูแลช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยอยู่อย่างปลอดภัยในพื้นที่พักรอ โดยไม่ให้ต้องมีความหวาดกลัวดังเช่นในปัจจุบัน
นายสุรพงษ์กล่าวต่อมาว่า การดูแลผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยในสายตาโลก ไม่ใช่เรื่องที่จะให้สิทธิขาดทหารดำเนินการ รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อดูแลเรื่องนี้ เพราะล่าสุดในกรณีการส่งกลับชาวม้งสัญชาติลาวเมื่อปลายปี 2552 ก็ประสบปัญหาโดยมีหลายองค์กรออกมาให้ข่าวว่าผู้ถูกส่งกลับต้องไปเผชิญกับ ความยากลำบาก เด็กถูกส่งกลับกว่า 100 คนถูกผลักดันสู่ความตาย ทั้งที่ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งที่ถูกส่งกลับได้รับการตอบรับให้เดินทางไปสู่ ประเทศที่ 3 แล้ว นอกจากนั้น ทั้งรัฐบาลไทยและลาวต่างไม่ออกมารับผิดชอบต่อการสูญหายของผู้ลี้ภัยใน ระหว่างการส่งกลับ แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ได้ทำให้รัฐบาลไทยถูกประณามว่าเป็นต้นเหตุ
“หากรัฐบาลไม่เข้าไปดูแลควบคุมเรื่องนี้ ผมถือว่าแม่ทัพภาคที่ 3 ปฏิวัติยึดอำนาจประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ที่บอกว่าไม่ปฏิวัติแต่ไม่ฟังเสียงจากรัฐบาลและสภาความมั่นคงแห่งชาติ นั่นคือการปฏิวัติเรียบร้อยแล้วและจะมีผลจริงๆ ในวันพรุ่งนี้หากมีการผลักดันผู้อพยพออกจากประเทศไทย” นายสุรพงษ์กล่าว
ส่วนนางสาวอาภัสสร สมบุญวัฒนกุล กลุ่มเพื่อนพม่ากล่าวถึงการเคลื่อนไหวต่อไปว่า ในวันพรุ่งนี้จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ยุติการส่งกลับผู้ ลี้ภัยศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ส่วนในช่วงบ่ายจะมีการจัดประชุมและแถลงข่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง ชาติต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งหากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนองจากมีการเชิญสื่อมวลชนไปสำรวจ พื้นที่จริง ร่วมทั้งจะมีการยื่นหนังสือให้แก่องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น