วันพุธที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

สลดรถไฟไทย


"รู้สึกเสียใจที่พนักงานรถไฟทำเช่นนี้โดยชาวบ้านไม่รู้อะไรด้วยเลย ขอบอกว่าเข็ดแล้วจะไม่ขอนั่งรถไฟอีก"
คือเสียงบ่นของชาวบ้าน หนึ่งในจำนวนหลายพันคน
ซึ่งถูกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยจับเป็นตัวประกัน
ต่อรองเรียกร้องให้ปลดผู้บริหารการรถไฟฯ บางคน
เรื่องของเรื่องสืบเนื่องจากขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง-กรุงเทพฯ ตกรางที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. แล้วมีผู้โดยสารเสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บอีกกว่า 80 คน

จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุ เบื้องต้นสรุปว่าเป็นความบกพร่องของพนักงานคนขับ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ออก และตัดเงินเดือนพนักงานเกี่ยวข้องอีก 2 คน
นำมาสู่ความไม่พอใจของสมาชิกสหภาพแรงงานรถไฟ เนื่องจากมองว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบของผู้บริหาร ปล่อยให้พนักงานระดับล่างเป็นแพะรับบาป

การหยุดเดินรถจึงถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกดดันผู้บริหาร
ผลที่ตามมาเลยทำให้ประชาชนผู้โดยสารจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนอย่างที่เห็น
ตามสถิติบันทึกไว้ในรอบ 10 เดือนของปีนี้ รถไฟตกรางไปแล้ว 80 ครั้ง ส่วนปี 2551 ตกราง 149 ครั้ง
เป็นสถิติน่าขนลุกสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟไทย
ทางสหภาพรถไฟอ้างว่าสาเหตุที่รถไฟตกรางบ่อยครั้งเนื่องจากสภาพความไม่พร้อมของตัวรถ หัวรถจักร อุปกรณ์เซฟตี้ ราง ฯลฯ ที่ขาดการซ่อมบำรุงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี
ตรงนี้เองผู้บริหารต้องรับผิดชอบ
ขณะที่ฝ่ายผู้บริหารบอกว่าจริงอยู่ที่สภาพรถไฟส่วนใหญ่มีสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ที่ผ่านมาก็ได้พยายามดูแลรักษาเท่าที่ทำได้ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและกำลังคน
โดยยึดเอาสวัสดิภาพผู้โดยสารเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก
เหนือสิ่งอื่นใดต้องไม่ลืมว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่เป็นเพียงตัวช่วยหรือผ่อนแรงให้พนักงานเท่านั้น
ถึงที่สุดพนักงานจะเป็นกลไกหลักในการควบคุมการเดินรถให้ปลอดภัย
ฟังจากทั้งสองฝ่ายแล้วใครจะถูกผิดอย่างไรนั้นเชื่อว่าต้องใช้เวลาสะสางกันอีกพอสมควร
แต่สิ่งที่ทั้งผู้บริหารและสหภาพต้องตระหนักในเวลานี้
คือการรถไฟฯ เป็นสมบัติของประชาชนไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง
ถ้าจะทะเลาะกันก็ไม่ควรทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น