เอ่ยชื่อ "พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี" นายทหาร “ตท.10” หลายคน...คงรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะ “ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน” ในวัน-เวลา...ที่มีการปฏิวัติ 19 ก.ย.2549 ซึ่งว่ากันว่า เป็นหน่วยคุมกำลังกองทัพอากาศ ที่ ณ เวลานั้น ประกาศชัดเจนว่า อยู่ฝ่ายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และ “วางปืน” เป็นหน่วยสุดท้าย...จนไม่เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ และทำให้ “ปฏิวัติหน่อมแน้ม” ในครั้งนั้นได้รับ “ดอกไม้” แทนที่จะเป็น “ก้อนอิฐ”
“ความใจถึง” ในครั้งนั้น...ส่งผลให้เขาได้รับเกียรติ-ยกย่องว่า เป็น “เพื่อนตาย” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อีกคนหนึ่ง ถึงขนาดถูกส่งให้เป็น “หนึ่ง” ในหลายๆ คนที่เดินเกมเจรจาและต่อรองกับ “บุคคลทุกระดับ” ในเมืองไทย เพื่อปูทางให้ “ทักษิณ” กลับบ้าน
ล่าสุด...ในการประกาศเปิดตัว “นายทหารตท.10” จำนวน 52 คน ที่ขันอาสาเข้ามาทำงานในพรรคเพื่อไทย...อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางเสียงคำรามเตือนของ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ส่งสัญญาณเตือนแบบมีนัยยะผ่าน “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่า “ให้ไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการกระทำที่เป็นการทรยศต่อชาติ”
เสมือนหนึ่งเป็นการ “เปิดหน้า” แยกฝ่าย-แยกขั้วกันอย่างชัดเจน...อย่างเป็นทางการ!!!
บรรทัดต่อจากนี้...คือคำอธิบายจากปากของ “พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี” เพื่อนตายของ “ทักษิณ” ที่ออกมาไขความกระจ่างเรื่อง “ทรยศต่อชาติ” ว่า “จริง-เท็จ” เป็นอย่างไร และมูลเหตุจงใจอะไร ทำไม “ตท.10” ถึงยกทีมแห่เข้าพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกับ "คำคิดถึง" ไปถึง "เพื่อนป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ." ว่า "ต้องคิดให้รอบคอบ ถ้าคิดจะทำอะไร"
รวมถึงการประกาศชัดเจนว่า “ทุกวันนี้มีการอ้างอิงสถาบันเพื่อทำลายคนอื่นเท่านั้น”...อะไรทำให้ “เขา” คิดเช่นนั้น...และต้องการ “สื่อ” ไปถึง “ใคร”...เชิญค้นหาคำตอบแบบคำต่อคำได้!!!
Q : ในฐานะแม่บ้านรวบรวมเพื่อนฝูงเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) เข้าพรรคเพื่อไทย นอกจากเข้ามาเล่นการเมือง มีจุดประสงค์อื่นด้วย
A : ที่รวมเพื่อนๆ เข้าไปด้วยกัน ก็ไปด้วยกัน ไม่มีใครนำใคร มีจุดประสงค์ที่เราคุยกันไว้ว่า เมื่อออกจากราชการแล้วจะช่วยชาติบ้านเมือง ทำประโยชน์ให้กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ได้มีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไร เมื่อคุยกันก็ได้ข้อสรุปว่า เราน่าจะเข้าไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ทำการเมืองอยู่และคิดว่ามีรายละเอียดการทำงานของพรรคที่เป็นแนวทาง ที่ถูกต้องเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข เราก็เลยคิดว่าน่าจะไปอยู่กันตรงนี้ จึงได้ชักชวนกันเข้ามาในพรรค
Q : การเดินทางไปพบคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) มีส่วนสำคัญที่ช่วยในการรวบรวม “ตท.10”
A : ท่านทักษิณเคยพูดกันตั้งแต่สมัยที่เป็นนายกฯ เมื่อปี 2546 หรือปี 2547 ท่านก็บอกว่าเพื่อนๆเราเนี่ย เป็นที่พอจะมีความรู้ความสามารถ เพราะการจะสอบเข้าเตรียมทหารได้ต้องมีความสามารถพอสมควร หลังจากนั้นก็ไปทำงานกันหลายที่ ชีวิตรับราชการ 30 ปี บางคน 40 ปี ก็ได้ประสบการณ์ต่างๆมา คือท่านบอกว่าเมื่อเกษียณอายุ ก็ช่วยกันมาทำพรรค ในสมัยที่ท่านเป็นพรรคไทยรักไทย แนวความคิดเนี่ยพวกเรามีความรู้ความสามารถ เมื่อเกษียณแล้วก็มาช่วยกันทำการเมือง คือพูดตั้งแต่ท่านเป็นนายกฯ เราก็ยึดถือกันมา ปีนี้เป็นปีที่รุ่นเราเริ่มเกษียณอายุ ก็มาคุยกันและมีแนวทางเข้ามาอยู่กับพรรคเพื่อไทย
Q : เรียกได้ว่าตั้งแต่ช่วงที่คุณทักษิณยังมีอำนาจ จนถูกยึดอำนาจไป ความสัมพันธ์และความสนิทสนมของตท.10 ยังเหนียวแน่น
A : ยังเป็นเพื่อน ถึงแม้จะแยกกัน มีอุดมการณ์ต่างกัน ทำงานกันคนละที่ แต่ความเป็นเพื่อนก็คือเพื่อน ท่านเคยพูดว่าเราจะต้องเป็นเพื่อนกันและมีการเลี้ยงรุ่นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือ 2 คนก็ยังต้องเลี้ยงกัน จนกระทั่งเหลือคนสุดท้ายก็อาจจะไม่มีการเลี้ยง ก็ตายจากกันไป เคยพูดล้อเล่นกันอย่างนี้ ก็พูดอย่างนี้มาตลอด ความเป็นเพื่อนยังแน่นแฟ้น แต่ว่าการทำงานแต่ละคนก็มีหน้าที่ อาจมีแนวความคิดตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง
Q : ตท.10 ไม่กลัวถูกข้อกล่าวหาเหมือนคุณทักษิณ ทั้งเรื่องความไม่จงรักภักดี การทุจริตคอรัปชั่น
A : ไม่หรอกครับ เพราะการมาทำงาน ผมก็ไม่เชื่อว่าท่านทักษิณ ท่านจะมีพฤติกรรมแบบที่พูด แล้วที่พวกเราเข้ามา ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกเรา เรื่องจะทุจริตหรือไม่ทุจริต ก็เป็นเรื่องการกระทำต่อไปข้างหน้า แต่คิดว่าสมัยนี้มันลำบากของการทำทุจริต เพราะมีการตรวจสอบกันเยอะ นอกจากจะทำแบบไม่แคร์ใคร เหมือนทุกวันนี้เขาก็ทำแบบไม่แคร์ใคร ก็พอได้ แต่มันก็จะทำให้ชื่อเสียงของตัวเองเสียหายไป คิดว่าเราเคยเป็นข้าราชการ เคยรับใช้ประเทศชาติกันมาคงจะไม่ทำอย่างนั้น
Q : ทำไมจึงตัดสินใจเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองค่อนข้างร้อนแรงและมีการแบ่งฝ่ายค่อนข้างชัดเจน
A : คืออันนี้เป็นความเข้าใจผิด คือเราเกษียณอายุเมื่อ 30 ก.ย. เราใช้เวลารวบรวมเพื่อนฝูงและคุยกันประมาณ 10 กว่าวัน แล้วถึงได้พากันมา มันเป็นช่วงพอดี เราไม่ได้คิดถึงว่ามีอะไร คิดว่าเกษียณแล้วเราจะไปทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย
Q : แต่มีการมองกันว่าการเข้ามาเพื่อไทยกว่า 50 คน เหมือนเป็นแรงที่ช่วยต่อรองในการทำงานการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทย
A : เราก็บอกทางพรรคไปแล้ว และบอกผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคว่า เรายินดีไปเสริมเติมในส่วนที่เรามีประสบการณ์ ไม่คิดว่าจะเป็นอะไรหรือเข้าไปแล้วเป็นโน่น-เป็นนี่ ไม่ใช่ แต่ว่าถ้าพรรคใช้ให้เราไปทำอะไร หรือต้องการประสบการณ์ที่เราผ่านมาทางไหน เราก็ยินดีที่จะทำให้ทุกอย่าง คือเราเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุมาแล้ว มีประสบการณ์ที่จะมาช่วยสิ่งใดได้ก็จะช่วย ไม่จำเป็นว่าจะเป็นไอ้นั่น-ไอ้นี่ ไม่ได้คิด
Q : ขุมกำลังของตท.10 จะมีเข้ามาอีก
A : คาดว่าน่าจะมีบ้าง นี่เพิ่งเกษียณอายุมา 60 คนเท่านั้นเอง เพราะบางคนก็ไปต่างประเทศอยู่ ปีหน้าก็จะเกษียณอีกเป็นร้อยคน
Q : ตท.10 เป็นเพื่อนกับคุณทักษิณ การเข้ามาร่วมทำงานกับพรรคเพื่อไทย มีการมองว่าเพื่อเป็นพลังในการต่อกรกับอำนาจอีกฝ่าย
A : ไม่ใช่...เราไม่เคยคิด เราคิดที่จะเข้ามาตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณเป็นรัฐบาลด้วยซ้ำไป เมื่อเกษียณอายุจะมาช่วยทางด้านการเมือง เพื่อทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ไม่ได้คิดหลังจากโดนปฏิวัติแล้ว คิดกันมานานแล้ว
Q : มีบางคนบอกว่าการเข้ามาเพื่อไทยก็จะมีส่วนช่วยในการเข้าไปทำความเข้าใจกับฝ่ายทหารได้
A : น่าจะมีบ้างบางส่วนที่ยังอยู่เป็นเพื่อนที่รักนับถือกัน หรือเป็นลูกน้องเก่าที่ยังเคารพนับถือกัน ก็จะต้องคุยกันเรื่องความถูกต้อง อะไรถูกต้อง-ไม่ถูกต้อง ก็คงต้องมีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะแต่ละคนรับราชการมา ก็จะมีพี่-มีน้อง-มีเพื่อน ก็คงต้องคุยกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา
Q : ที่ผ่านมา ฝ่ายทหารมีความเข้าใจผิดในตัวของคุณทักษิณ
A : คือไม่น่าจะมีอะไรเข้าใจผิดหรอก แต่ว่า “ครั้งนั้น” เหตุการณ์มันรุนแรง คนถูกกล่าวหา กลุ่มโน่น-กลุ่มนี้ก็ออกมาต่อต้าน มันก็ทำให้หลายฝ่ายคิดว่าเป็นความจริง ทั้งที่บางอย่างไม่ได้เป็นความจริง หลังจากนั้นมา 3-4 ปี หลายคนก็เริ่มรู้ว่า “อะไรมันคือความจริง”
Q : เท่าที่คุยกับกองทัพ ความรู้สึกกับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร
A : อันนี้บางคนมันก็เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เขามีหน้าที่เขาต้องทำงานอยู่กับผู้บังคับบัญชาเขาต้องทำงานให้ผู้บังคับ บัญชา ก็ว่ากันไป แต่ใจเขาจะคิดยังไงก็อีกเรื่องนึง ก็มีทั้ง 2 ฝ่ายทั้งเห็นดี-เห็นไม่ดี
Q : ตท.10 จะช่วยเข้าไปทำความเข้าใจ
A : ก็คงไม่ถึงกับเข้าไปทำความเข้าใจ ก็คุยกันตามปกติ ถึงแม้จะไม่ได้เข้ามาอยู่ในพรรค ก็คุยกันอยู่แล้วกับเพื่อนฝูง กับลูกน้องเก่าๆ ผู้ใต้บังคับบัญชา เจอกันก็คุยกันเรื่องการบ้านการเมือง ก็ต่างคนต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป
Q : ทหารเข้ามาอยู่กับพรรคเพื่อไทย อย่างน้องก็มีส่วนช่วยให้การคิดทำปฏิวัติยึดอำนาจยากขึ้น
Q : เชื่อว่าถ้าตท.10 มีการพูดคุยทำความเข้าใจ การปฏิวัติจะทำได้ไม่ง่ายนัก
A : คือปฏิวัติไม่ใช่ว่า ตท.10 เข้าไปคุยหรืออะไร แต่เมื่อคิดดูแล้ว ยากมันคงไม่ยากหรอก แต่ทำแล้วจะทำให้ประเทศดีได้อย่างไร หลายคนคงต้องคิด ผู้ที่คิดทำการปฏิวัติก็ต้องคิด ข้อแรกคือ 1.ปฏิวัติสำเร็จหรือไม่ 2 .ปฏิวัติแล้วจะทำยังไงให้ประเทศชาติดีขึ้น อันนี้เป็นข้อหนักหน่วงมาก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้ สมัยรสช.ก็มีการปฏิวัติ หลังจากนั้น รสช.ก็ถูกว่า ถูกอะไรจนกระทั่งแย่ไปเลย ทั้งๆที่ รสช.ทำความเสียหายน้อยกว่าคมช.ที่ทำ เพราะฉะนั้นต่อไปเมื่อถึงลูกถึงหลาน ก็จะพูดกันไปว่านี่คือผลงาน เพราะฉะนั้นทุกคนคงไม่อยากไปเป็นหัวหน้าปฏิวัติเพื่อจะทำอะไรอย่างนี้
Q : มีการโจมตีว่าในสมัยที่เป็นไทยรักไทย ก็มีนายพลหลายคนอยู่ ก็ยังช่วยต้าน...ไม่ให้ถูกปฏิวัติไม่ได้
A : ต้าน...คงต้านไม่ได้ ถ้าต้านด้วยกำลัง คงต้านไม่ได้ แต่ด้วยความคิด...คือจะว่าต้านไม่ได้ก็ไม่เชิง คือแต่ก่อนต้านไม่ได้ เพราะสถานการณ์มันสุกงอม ประชาชนไปเข้าใจผิดว่าเป็นอย่างนั้น-อย่างนี้ ไม่จงรักภักดี มีการโกงกิน มันสุกงอมไง สังเกตมั๊ยว่าพอปฏิวัติปุ๊บ มีคนเอาดอกไม้ไปให้ แต่ผมคิดว่าต่อไปคงไม่ใช่แล้ว ปฏิวัติคราวนี้คงไม่มีดอกไม้
Q : มีการดูถูกว่าเป็นทหารแก่ และไม่มีกำลังที่จะต่อสู้อะไรได้
A : เราเนี่ยเหมือนประชาชนคนหนึ่ง เข้าไปก็เป็นสมาชิกพรรค อันนี้จะทำอะไรได้ มีความรู้ความสามารถไปช่วยได้แค่ไหน มันอีกเรื่องนึง จะเป็นอะไรเราไม่คาดหวัง เราคุยกันแล้วเราไม่ได้คาดหวัง แต่ได้เข้าไปช่วยถือว่าโอเคแล้ว
Q : เหตุผลหนึ่งเพราะเพื่อนรักถูกรังแกหรือไม่ ถึงต้องเข้ามาช่วย
A : จะว่าเพื่อนถูกรังแก...แต่ว่ามันไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะว่าเห็นว่าบ้านเมืองมันไม่มีมาตรฐาน ทำคนผิดว่าถูก คนถูกว่าผิด จนกระทั่งไม่มีใครกล้ามาลงทุนเมืองไทย กฎหมายย้อนหลังก็ออกมา เราเคยพูดกับเพื่อนฝูง บางทีก็ล้อกันเล่นจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน บอกเฮ้ย..ไม่เอา เดี๋ยววันดีคืนดีมันก็ยึดของเรา เดี๋ยวนี้มันเกิดขึ้นกับประเทศไทยแล้ว แล้วใครจะกล้ามาลงทุน เราถึงต้องมาช่วยกันตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเพื่อนจะโดน มันก็มีส่วนที่เพื่อนจะโดน ไม่ถูกต้อง เราก็ว่ามันไม่ควรบางอย่าง เพราะทุกคนอย่าง 3 ปีที่ผ่านมา ไล่บด-ไล่บี้เขาแทบจะไม่มีชิ้นดี ก็ไม่เห็นมีลงโทษอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เขาทำผิดมหันต์อะไรขนาดนั้น
“การ ที่ว่าท่านไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์หรือสถาบัน ศาลก็ยกฟ้องไปแล้ว คือเป็นข้อกล่าวหากันทั้งนั้น แล้วถ้าเราเข้ามาก็ต้องการให้เกิดความยุติธรรมในบ้านเมือง ให้เกิดความจงรกภักดีต่อสถาบันจริงๆ เพราะเราเป็นทหารเรายึดถือตรงนี้มา ทุกวันนี้อ้างอิงสถาบันเพื่อทำลายคนอื่นเท่านั้น”
Q : ตท.10 เข้ามาจะช่วยในเรื่องนี้ได้
A : ก็น่าจะมีภาพลักษณ์ตรงนี้บ้าง เพราะหลายคน...อย่างผมก็เป็นราชองครักษ์มาตั้ง 24 ปี เคยเป็นผู้บังคับกองพันสวนสนามรักษาพระองค์มา 2 ปี และ “ความจงรักภักดี” ผมก็มีมาตลอด แล้วก็หลายคน เพื่อนที่เข้ามาก็ทั้งนั้น ก็มีความจงรักภักดี
“ถ้า ทางพรรคไม่มีความจงรักภักดี ผมก็คงไม่เข้ามา แล้วถ้ามันเกิดความทรยศต่อชาติ กกต.ก็ต้องยื่นมือเข้ามาแล้ว พรรคนี้ทรยศต่อชาติ ต้องมาสอบมาอะไรกัน ก็ต้องถูกดำเนินคดี ยุบพรรค ใครทำผิดคิดทรยศต่อชาติก็ต้องติดคุกติดตะราง ก็ต้องว่ากันไปแล้ว คือไม่ใช่ว่าจะกล่าวกันลอยๆอย่างนี้มันไม่ถูก”
Q : การเข้ามาของตท.10 เป็นช่วงเดียวกับที่พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ สมาชิกพรรคเพื่อไทย) เข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นการเข้ามาเสริมพลังทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทยได้พอสมควร ถือว่าได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น
A : อันนี้ก็ได้สมาชิกเพิ่มมา มันสมองเพิ่มมาบ้าง จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ มันคงไม่แน่นอน มันคงทำอะไรให้พรรคดีขึ้นบ้าง เพราะทุกคนมีประสบการณ์ มีอะไรมา ก็อาจจะมาช่วยกันได้บ้าง แต่ว่าจะดีกว่าพรรคอื่นหรือไม่ดีกว่าเนี่ย ตอบไม่ได้
Q : การที่บิ๊กจิ๋วเดินทางไปกัมพูชา ไปพบกับนายกฯกัมพูชา แล้วมีการพูดคุยถึงคุณทักษิณ ถึงขนาดสมเด็จฮุนเซนบอกว่า เป็นเพื่อนที่ดี จะทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นหรือแย่ลง
A : มันขึ้นอยู่กับการกระทำของท่านพล.อ.ชวลิต ท่านมาทำถ้าเกิดปรองดอง ความสามัคคีแล้วช่วย ก็คงน่าจะดีขึ้น แต่ถ้าใช้ความรุนแรงกันก็ไม่น่าจะดีขึ้น แต่ท่านก็บอกแล้วว่า เข้ามาจะสมานฉันท์ ถ้าเป็นแนวทางนี้ประเทศชาติก็จะดีและดีกับทุกฝ่าย ไม่เฉพาะแต่ท่านทักษิณ ประเทศชาติก็จะดี ประชาชนก็จะดีด้วย ถ้าเกิดความสมานฉันท์ปรองดองกันได้ ประเทศชาติก็จะราบรื่น
Q : ตท.10 ยังมั่นคงถึงแม้จะถูกกล่าวหาว่า “ทรยศต่อชาติ”
A : ยังมั่นคงครับ ยังยึดหลักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรายังยึดมั่นในตรงนี้ แล้วเราก็จะดูด้วยว่าพรรคเพื่อไทยเราเข้ามาเนี่ย เขามีพฤติกรรมอะไร เราก็ต้องดู แต่ก็เชื่อว่าไม่เกิดอย่างที่กล่าวหา เพราะทุกคนยังรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...เป็นไปไม่ได้
Q : วันที่พล.อ.เปรมออกมาพูดแล้วมีบรรดาผบ.เหล่าทัพยืนอยู่ข้างหลัง มีการตีความว่าพล.อ.เปรมต้องการส่งสัญญาณบางอย่าง เหมือนเหตุการณ์ก่อนวันที่ 19 ก.ย. 2549
A : คือไม่ได้มอง เพราะวันนั้นเป็นงานส่วนรวม ทุกท่านก็ไปร่วมงาน ผมคิดเอาเองนะ แล้วก็มีบางคนเขาคุยกัน มันอาจจะเป็นการบังเอิญ พล.อ.เปรมท่านมาเป็นประธาน ท่านเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องมาส่งมาอะไรกัน มันไม่น่าเป็นสิ่งบอกเหตุอะไร น่าจะเป็นการมาส่งท่าน แล้วพอดีนักข่าวไปถามท่าน ท่านก็ตอบ ก็เลยกลายเป็นภาพว่า ยืนอยู่ด้วยกัน
Q : ไม่ได้มองว่าเป็นการบอกเป็นนัยว่า มีกำลังทหารหนุนหลังอยู่
A : อันนี้ถ้าเป็นใจผม ผมว่าเป็นการบังเอิญมากกว่า ทุกคนไปร่วมงานแล้วเกิดภาพนี้ขึ้นมา อย่างผมเป็นผบ.หน่วยเนี่ย ถ้าผู้บังคับบัญชามาร่วมงาน ผมก็ต้องเดินไปส่งอย่างนี้ มันออกมาคล้ายกับดูว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น
Q : แต่วันนั้นป๋าเปรมพูดโจมตีบิ๊กจิ๋วและพรรคเพื่อไทย โดยมีทหารอยู่ข้างหลัง
A : ผมไม่รู้ว่าทหารทราบกันมั๊ยว่า ท่านจะพูดอย่างนั้น ผมไม่ทราบ
Q : ภาพที่ออกมาส่วนตัวมองอย่างไร
A : คืออันนี้มันก็ตอบยาก เพราะอันนี้เป็นความคิดของท่าน ผมก็ไม่รู้ท่านเจตนาอะไร
A : ก็ หลายคนคุยกันว่า รู้สึกมองพวกเราทรยศต่อชาติ ตอนนั้นผมยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในพรรค หลายๆคนที่มองก็เกิดความขัดแย้งว่า เขาไม่ใช่นะ ถึงได้มีการฟ้องร้องกันอยู่
Q : บางคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของเพื่อไทยเคยเป็น “กลุ่มยังเติร์ก” มาก่อน
A : แต่ก่อนเป็นยังเติร์กเพราะว่าอาวุโสยังน้อย รุ่นผมเนี่ยผมเป็นนายพลอายุ 54 นะ แล้วดูซิระยะนี้บางคนเป็นนายพล พลตรี 6 เดือน พลโท 6 เดือนเยอะแยะเลย ที่ทำกันมาในกองทัพขณะนี้ มันไม่ใช่ยังเติร์กหรอกรุ่นนั้น รุ่นผมเนี่ยขึ้นกันมาตามลำดับชั้น ไม่มีใครลัด...รวดเร็วถึงขนาดนั้น
Q : มีการตั้งข้อสังเกต การเข้ามาเพื่อไทยของพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มยังเติร์กที่เคยยึดอำนาจป๋าเปรมในช่วงเป็นนายกฯ และอาจมีพล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ซึ่งเป็นยังเติร์กเหมือนกันเข้ามาร่วมงานด้วย ผสมกับ ตท.10 ที่เข้ามาจำนวนมาก จึงมีการเชื่อมโยงว่าอาจเป็นการเข้ามาต่อสู้กับป๋าเปรมโดยตรง
A : อ๋อ...ไม่ใช่ครับ ไม่ใช่ครับ คือมันประจวบเหมาะ พี่พัลลภท่านเข้ามากับพล.อ.ชวลิต ทางกลุ่มเตรียม 10 ก็เข้าไปในฐานะที่ได้คิดกันไว้แล้ว เข้าไปเกิดมันอยู่ไล่ๆกันพอดี เราไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าบิ๊กจิ๋วจะเข้ามา แต่เราเนี่ยหลังจากเกษียณก็ได้รวบรวมพูดคุยกัน พูดจากันระยะหนึ่ง ได้ระยะเวลาสมควรเราก็เข้าไป
Q : แต่ภาพที่ออกมาตอนนี้ เหมือนเป็นการต่อสู้ทางอำนาจและวัดบารมีระหว่าง 2 ฝ่าย
A : กลุ่มพวกผมไม่ได้คิดตรงนี้เลย คือเข้ามากันตามวาระ ไม่ได้คิดถึงว่าจะไปวัดบารมีหรือไปร่วมกับใคร เพราะอย่างที่บอกไม่ทราบด้วยว่า ท่านพล.อ.ชวลิตจะมาในช่วงนี้ และยังไม่ทราบด้วยว่าท่านมนูญกฤตจะมาหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ
Q : “บิ๊กจิ๋ว” วัดบารมีกับ “ป๋าเปรม” ได้
A : ผมว่า “วัดบารมี”... คงไม่ใช่ แต่ถ้าจะช่วยกันเสริม ช่วยกันเติมทำงานเพื่อชาติ มันน่าจะได้ คือท่านพล.อ.ชวลิต ท่านก็ทำงานเพื่อชาติมาเยอะพอสมควร เพราะฉะนั้นท่านคงมาช่วยอะไรได้บ้างในส่วนการประสานติดต่อ อย่างท่านไปพบนายกฯฮุนเซน ท่านก็จะได้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมรน่าจะดีขึ้น ท่านคงไม่อยากให้เกิดศึกสงครามอะไร ก็น่าจะดี ท่านก็บอกว่าท่านไปพม่าก็จะคุย เพราะการที่จะไปสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านก็เป็นได้ ผมว่าน่าจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น
Q : ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.เปรมถูกนำมาพูดถึงและโจมตีอย่างหนัก ทั้งที่ก่อนหน้านี้การจะพูดถึงพล.อ.เปรมในทางเสียหาย ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม มันเกิดจากอะไร
A : คือมันเป็นความคิดไง เพราะการกระทำ เพราะกระทำให้เขาคิดอย่างนั้น เขาก็ต้องคิดอย่างนั้น
Q : ที่ผ่านมาป๋าเปรมทำอย่างที่มีการกล่าวหา
A : คือเราก็ไม่รู้ไง ไม่รู้ว่าเสื้อแดงเขาคิดว่าท่านกระทำอะไรกันบ้างยังไง เขามีผลกระทบยังไง เขาถึงออกมาตอบโต้ อย่างที่ท่านพูดถึงพล.อ.ชวลิต พล.อ.ชวลิตท่านก็ต้องออกมาตอบโต้ พูดถึงพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยก็ต้องออกมาตอบโต้
“คือ ปกติป๋าเนี่ย ใครๆ เขาก็เคารพ ไม่อยากจะตอบโต้อยู่แล้ว แต่เมื่อพูดจุดให้เขาเสียหาย เขาก็ต้องตอบโต้ อันนี้ความคิดของผม คือเราไม่อยากตอบโต้ท่าน เพราะท่านมีคุณงามความดีแล้วก็ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองมาพอสมควร แต่บางอย่างเมื่อพูดไปกระทบถึงเขา ให้เขาเสียหาย เขาก็ต้องตอบโต้”
Q : ที่ผ่านมาป๋าเปรมมีการกระทำก็เลยทำให้...
A : “อาจ ไปกระทำ” หรือให้เขารู้ว่า “เขาถูกกระทำ” เขาก็ต้องตอบโต้ แล้วท่านอยู่ในฐานะผู้ใหญ่ เป็นองคมนตรี ท่านไม่ลงมายุ่ง ก็ไม่มีใครที่จะไปตอบโต้
Q : ส่วนตัวมองว่าป๋าเปรมกำลังเข้ามายุ่งกับการเมือง
A : อันนี้ก็เป็นที่รู้ๆกันอยู่ ผมก็เห็นท่านออกมาหลายครั้ง อย่างคราวนี้ก็ชัดเจน อย่างที่ท่านบอกว่ามาอยู่พรรคนี้ก็ทรยศต่อชาติ มันก็ชัดเจนแล้ว
Q : วันที่ 15 ต.ค.ที่ป๋าออกมาพูดชัดเจนมาก
A : ชัดมั๊ยละ เพราะท่านพูดให้พรรคเขาเสียหาย
Q : ถ้าป๋าเปรมลงมาเล่นกับการเมืองแบบนี้ การที่จะโดนฝ่ายตรงข้ามเล่นงานหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้
A : ก็เป็นเรื่องการยุติธรรม เมื่อเขาถูกกระทำ เขาก็ตอบโต้ เขาถูกว่าให้เสียหาย เขาก็ต้องตอบโต้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติมนุษย์อยู่แล้ว
Q : ภาพที่ปรากฎออกมาชัดเจน ทหารยังรักและเคารพท่านเหมือนเดิม
A : ผมก็ยังเชื่อว่าเคารพรักอยู่ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ในกองทัพมานาน ดูแลกันมานาน แต่ว่าในดุลยพินิจ อาจต้องมีดุลยพินิจนะ คือเคารพก็ส่วนเคารพ แต่การจะทำอะไรก็ต้องดูว่าสิ่งใดถูกต้อง ไม่ถูกต้อง เพราะผู้นำเหล่าทัพทุกท่าน ท่านก็มีความคิดของท่านว่าอะไรถูกต้อง ไม่ถูกต้อง แต่ความเคารพมันอีกเรื่องนึง อย่างผมเป็นผบ.หน่วยเนี่ย เขาเคารพผม แต่ผมสั่งเขาไปทำไม่ถูกต้อง เขาคงไม่ทำกัน
Q : แม้จะเห็นว่าป๋ายุงเกี่ยวกับการเมือง ความรู้สึกก็ยังเคารพรัก
A : ครับ ก็ท่านถือว่ามีส่วนทำคุณงามความดีให้ประเทศ แต่ส่วนที่ท่านมาว่ากล่าว เขาก็ต้องตอบโต้ไปตามธรรมดา อย่างที่ผมเรียนว่า ทำงานทุกอย่างมันต้องทำดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มันของธรรมดา ส่วนที่ดีเราก็ยกย่อง ส่วนที่ไม่ถูกต้องเราก็ต้องตอบโต้
Q : แต่ด้วยตำแหน่ง-ฐานะ-หน้าตาในสังคมที่ทุกคนเคารพ การออกมากระทำอย่างที่คนไม่พอใจแล้ววิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
A : คืออย่างนี้มันก็ขึ้นอยู่ที่การกระทำไง ทำสิ่งใดที่เขาเดือดร้อนหรือเขาแคลงใจ เขาก็ตอบโต้ แต่ถ้าท่านอยู่แบบผู้หลักผู้ใหญ่ทั่วๆไป ก็ไม่มีใครไปตอบโต้ ไปว่าได้ ปกติคนไทยไม่อาจเอื้อมไปแตะต้องผู้หลัก-ผู้ใหญ่อยู่แล้ว
Q : บิ๊กจิ๋วเข้ามาจะช่วยได้มาก
A : ผมคิดว่าท่านจะช่วยได้เยอะพอสมควร ในเรื่องสมานฉันท์ ผิดคิดเอาเองนะทุกคนไม่อยากให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ แต่ว่าจะคุยกันยังไง จะจบกันยังไงให้มันดีเนี่ย มันต้องมีจุดนึง
Q : บิ๊กจิ๋วเรียกได้ว่าเป็นความหวังหนึ่งในช่วงนี้
A : ก็มีส่วน
Q : เป็นความหวังสุดท้ายหรือไม่
A : อันนี้ตอบไม่ได้
Q : การที่ท่านคัมแบ็คการเมือง ทั้งที่หายไปแล้ว
A : คือท่านบอกกับพวกผม ท่านไปในอีสานก็ดี ก็มีคนอยากให้ท่านกลับมาช่วย คิดว่าท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีคนนับถือพอสมควร น่าจะทำตรงนี้ได้ ท่านถึงเข้ามา
Q : มองว่าบิ๊กจิ๋วเป็นคนเดียวหรือไม่ ที่คุยกับป๋าเปรมได้
A : ท่านบิ๊กจิ๋ว ท่านยืนยันเสมอว่า ท่านเคารพนับถือป๋าอยู่ แต่เมื่อป๋าพูดอย่างนี้ เขาก็อาจจะต้องตอบโต้บ้างนิดหน่อย แต่ต่อไปจะคุยกันได้แค่ไหน อันนี้ผมก็ยังตอบไม่ได้
Q : ที่ผ่านมาเป็นไปได้หรือไม่ที่ป๋าเปรมไม่ยอมคุยกับคนอื่น บิ๊กจิ๋วจึงเข้ามาประสาน
A : ถ้าเข้ามา โดยป๋าอยากให้เข้ามา ป๋าคงไม่พูดอย่างนี้ คือไม่พูดรุนแรงถึงขนาดนี้ บางคนก็มองว่าบิ๊กจิ๋วเข้ามาเป็นตัวเชื่อมหรืออาจเป็นสายลับ ผมว่าไม่ใช่
A : คือเขาไปคิดกันเอง ผมมองดูอย่างคนที่พูดเนี่ย เขาอาจมีปัญหาส่วนตัวกันอยู่ (หมายถึงพล.ท.มนัส เปาริก ที่ออกมาต่อว่า) ผมว่าท่านเข้ามา ทุกคนเข้ามาก็ต้องพร้อมที่อยากเข้ามาช่วยพรรค แต่ที่เขาพูดอาจจะพูดด้วยความคิดส่วนตัวกันไป ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการคิดแบบนั้น...มันไม่ใช่
Q : เมื่อป๋ามีท่าทีไม่ตอบรับแนวทางที่บิ๊กจิ๋วเดินอยู่ จะยังคุยกันได้ตามแนวทางสมานฉันท์
A : คือต้องคุยหลายฝ่าย ไม่ใช่ว่าคุยกับป๋าคนเดียว คุยกับหลายฝ่าย
Q : แต่ป๋าคือผู้มีอำนาจเด็ดขาดของฝ่ายโน้น
A : บอกแล้วไง ใน กองทัพตอนนี้เขาก็ต้องคิดกันว่า “ควร-ไม่ควร” ผมว่าท่านเอง ท่านก็ต้องคิดว่าควรจะทำอะไร ยังไง เหตุการณ์มันไม่เหมือนตอนที่ถูกปฏิวัติ (19 ก.ย.2549) ไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นที่จะมีเหตุผลที่จะต้องมาทำอย่างนั้น
Q : ตอนนี้คนในกองทัพเริ่มคิดแล้ว
A : ผมเชื่อ เพราะผมมีพรรคพวกลูกน้องเขาคุย เขาคิดกันอย่างนี้ บางคนที่เราเคยคุยเคยสื่อกัน
Q : ความคิดเขาเปลี่ยน
A : คือหลายคนเนี่ย “เปลี่ยน” คืออย่างแต่ก่อนมีความคิดอย่างนี้เหมือนกับว่าไม่ถูกต้อง อย่างนั้นอย่างนี้ ตอนนี้มันเริ่มคิดไงว่าเฮ้ย...ทำบ้านเมืองได้อะไร ประชาชนได้อะไร อย่างที่ผมบอกปฏิวัติยึดได้ ครองลำบาก จะทำให้ประเทศดีเนี่ยยาก ก็ต้องคิด
Q : อย่างผบ.เหล่าทัพหรือผู้ใหญ่ในกองทัพ ต้องคิดให้มากขึ้น
A : เขามีความคิดอยู่ ทุกคนรับราชการเป็นทหารมา นึกถึงสถาบันกันอยู่ทุกคน ก็รับใช้สถาบันทั้งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องการให้ประเทศชาติอยู่ดีมีสุข แต่บางครั้งเขาอาจไม่เข้าใจบางอย่าง หรือเหตุการณ์มันบังคับให้เขาทำเขาก็ต้องทำ
Q : ปฏิวัติที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงการทำหน้าที่
A : เป็นการทำหน้าที่ คล้ายๆกับว่ามีคน...เขาคิดว่าอย่างนั้น มันไม่ถูกต้อง เขาก็ทำ อันนี้เป็นความคิดของเขา
Q : แต่ไม่รู้ว่าคนที่สั่งเขา...
A : ผมไม่ทราบ เพราะอย่างท่านสนธิ (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคมช.) ท่านบอกแล้วท่านมีอำนาจอยู่แค่นั้น นอกจากนั้น “ใครละมีอำนาจ” ผมก็ไม่ทราบ
Q : บทเรียน 19 ก.ย. 2549 สอนว่าคนในกองทัพควรเปลี่ยนความคิดได้แล้ว
A : คือมันหลายครั้งขึ้นมาแล้ว อย่างตอนรสช.ก็มีบทเรียนอยู่ แต่มาคราวนี้ก็มีบทเรียนแต่อาจจะมีเหตุการณ์บังคับ เพราะมีม็อบ มีอะไร บ้านเมืองมันเกิดวิกฤตมาส่วนหนึ่ง กองทัพก็คงจะเข้ามาทำ แต่ตอนนี้มันไม่มีเหตุการณ์อะไร
Q : ถ้าป๋าสั่งตอนนี้ก็เป็นไปได้ว่าอาจไม่ทำ
A : อันนี้ผมก็ตอบไม่ได้
Q : ถ้าบอกว่าคนในกองทัพเปลี่ยนความคิด เริ่มคิดได้ว่าควรวางตัวอย่างไร ทำอย่างไร แล้วถ้าเห็นว่าป๋าทำไม่ถูก ถ้าจะทำตามมันก็...
A : ก็ต้องคิดไง ผมว่าทุกคนต้องคิดนะครับว่า..เพราะว่าการปฏิวัติเนี่ย 1. ถ้าทำไม่สำเร็จ เป็นกบฏนะ จะเอาตัวเข้ามาเสี่ยงหรือไม่ 2.ปฏิวัติแล้วประเทศชาติได้อะไร 3.เมื่อต่อไปเกษียณไป จะอยู่ยังไง คนก็จะตราหน้าว่าอย่างนั้น-อย่างนี้ ทุกวันนี้พวกคมช.ก็เริ่มลำบากลำบนกันแล้ว อย่างผมถ้าให้ผมปฏิวัติ...ผมก็ไม่เอา เพราะเรื่องอะไรผมต้องเอาตัวไปเสี่ยงขนาดนั้น เหตุการณ์ก็ไม่มีอะไร
Q : จะแก้ภาพพจน์ที่ออกมาอย่างไร เพราะคนที่เข้ามาฝั่งเพื่อไทย โดยเฉพาะทหารก็เหมือนกับอยู่คนละฝ่ายกับป๋าเปรมไปโดยปริยาย
A : คือเราไม่ได้คิดไง ไม่ได้คิดว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นอะไรกับป๋า กับป๋าเราก็เคารพท่าน เพราะท่านเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็นมาตั้งแต่เราเป็นเด็กๆด้วยซ้ำไป แต่เราเข้ามาเราต้องการมาช่วยประเทศชาติ ช่วยพรรคเพื่อไทย เพราะคิดว่าอุดมการณ์ของพรรค หรือนโยบายพรรคมันต้องใจเรา โอเคเราก็อยากมา ไม่ได้คิดไปเป็นศัตรูกับใคร
Q : แต่มีตท.10 บางคนพูดว่ามี “อำนาจนอกระบบ” กำลังจะหมดอายุขัย
A : อันนี้เป็นความคิดส่วนบุคคลแล้ว คือผมคุยกันแล้วว่า ต่อไปนี้การสัมภาษณ์ต่อไปนี้จะต้องคุยกันในกลุ่ม การให้สัมภาษณ์จะเป็นอย่างไร เพราะอันนี้เป็นในนามกลุ่มแล้ว เป็นในนามส่วนตัวมากไม่ได้แล้ว เพื่อนผมอาจจะพูดในนามส่วนตัว เพราะยังไม่ได้พูดกันเลย ยังไม่เจอกัน
Q : การที่เป็นทหารแล้วพูดอะไรตรงๆ มันก็คือความจริง
A : เข้าใจพูดตามตรงเนี่ยจริง แต่ว่าพูดตรงพูดอะไรต้องมีจังหวะ ไม่ไปทำให้ใครเขาเสียหาย ไม่ไปทำให้ใครเขาโกรธแค้น พูดความจริงได้พูดความจริงต้องให้คนเขายอมรับว่าเป็นความจริง
A : อัน นี้ก็รู้ๆกันอยู่ การปฏิวัติ...อย่างท่านสนธิ ท่านก็บอกว่า ท่านปฏิวัติมา ท่านมีอำนาจอยู่ 14 วัน แล้วหลังจากนั้นใครมีอำนาจผมก็ไม่รู้ ท่านบอกมีอำนาจอยู่ 14 วัน หลังจากนั้นท่านไม่มีอำนาจ ผมก็ไม่รู้ว่าใครมีอำนาจ
Q : การพูดถึง “อายุขัย” เหมือนสื่อว่าการต่อสู้ต่อไปนี้จะเข้มข้นมากขึ้น
A : คืออันนี้ผมว่าถ้าจะต่อสู้กัน คงไม่ใช่หรอก ทุกคนรู้แล้วว่าการต่อสู้ทำให้ประเทศเสียหาย ผมว่าน่าจะยุติตรงนี้ได้ น่าจะต้องคุยกันว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ใครทำอะไรมา ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ก็ควรจะยุติ หันมาเสริมสร้างประเทศชาติให้ดี
“ทุก วันนี้ระดับเราๆ ไม่เป็นไร พอมีข้าว พรุ่งนี้พอจะรู้ว่าจะทานอะไร ถึงสิ้นเดือนก็มีเงินเดือน แต่อีกหลายคนเขาไม่มีเงิน เขาจะทำไง เขาจะอยู่ได้ยังไง นับวันจะมากขึ้น ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ คนตกงาน คนค้าขายไม่มีกำไร กลับไปอยู่บ้านนอก ต่อไปถ้าเขาไม่มีอะไรทานจะทำยังไง เนี่ยต้องนึกถึงคนพวกนี้ ถ้ามามัวทะเลาะกันไป ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย สักวันหนึ่งพวกที่เขาไม่มีอะไรทาน เขาจะต้องลุกฮือขึ้นมา เมื่อนั้นบ้านเมืองจะยุ่ง วุ่นวาย คือผมเป็นห่วงตรงนี้”
Q : ตท.10 ถ้าจะคุยกับทหารเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์คิดว่าทำได้
A : ก็คิดว่าทำได้ ในใจผมเองคิดว่าทุกคนเห็นแล้วว่าชาติบ้านเมืองเป็นอย่างไร จะปล่อยให้มันถึงจุดนั้นหรือ นึกออกมั๊ยถ้าคนไม่มีจะกินเนี่ย ต้องสู้ ดิ้นรนทุกวิถีทาง แล้วถ้ามันเยอะๆจะทำยังไง แล้วถ้าปล่อยอย่างทุกวันนี้ มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะมันเริ่มถอยๆๆ ไปเรื่อยจนสุดกู่แล้ว คนจนสุดกู่แล้ว ไม่มีอะไรจะกินแล้ว มันก็ต้องสู้ สู้ก็จะเกิดปัญหาการสู้รบกัน อันนี้คิดว่าคนระดับผู้ใหญ่ทั้งการเมืองก็ดี ฝ่ายทหารก็ดี น่าจะคิดถึงจุดนี้ได้ น่าควรจะหาจุดยุติกัน
Q : 2-3 ปีที่ผ่านมาบทบาททหารเป็นคนเข้ามายุติปัญหาสถานการณ์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและทางการเมือง ตท. 10 จะมีส่วนเข้าไประงับ ยับยั้งไม่ให้มีการใช้กำลังอย่างที่ผ่านมาได้
A : อย่างตท.10 ที่ยังมีหน้าที่อยู่ในกองทัพก็ดูหน้าที่ อย่างผมเข้ามาอยู่ในการเมืองก็ต้องดูช่วยในเรื่องการเมือง มาดูแล ก็ไม่อยากให้เกิด ทำยังไงไม่ให้เกิด ควรยุติปัญหา ทำยังไงก็ควรมาช่วยกันคิดดู กระทบกระทั่งกันยังไงก็ต้องมาเจรจากัน คือก็อาจเป็นตัวเชื่อมให้ได้บ้าง
Q : สถานการณ์ตอนนี้มันถึงจุดที่ทหารจะออกมาใช้กำลังเพื่อยุติปัญหาอีก
A : อันนี้เราก็บอกไม่ได้ เพราะคราวที่แล้วก็พูดกันเสมอว่าไม่มีการปฏิวัติ เพราะทำให้บ้านเมืองเสียหาย ก็ยังมีคนทำ แล้วมันก็เสียหายจริงๆ อันนี้เราก็ตอบการันตีไม่ได้
Q : แต่เสื้อแดงประกาศออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลปลายเดือนพ.ย.นี้
A : ก็คงออกมามีส่วนนึง หรือไปถึงแค่ไหน ผมยังตอบไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ที่เขาต้องการอะไร ประชาชนลำบากกันจริงๆแล้ว รัฐบาลมีจุดให้เขาโจมตีอะไรบ้าง ที่เขาพูดกันตอนนี้รัฐบาลก็มีจุดให้เขาโจมตีได้หลายกระทรวง มันเละไปหมดแล้ว
Q : ยังเชื่อว่าถ้าเสื้อแดงออกมาจะควบคุมสถานการณ์ได้
A : ผมก็ตอบไม่ได้ ว่าจะออกมาได้ขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความทุกข์ยากของคน แต่เขาทุกข์ยากมาก เขาทนไม่ไหว เขาก็ออกมามาก การที่จะไปควบคุมจะควบคุมกันได้มากแค่ไหน
Q : ดูจากการทำงานของรัฐบาลตอนนี้จะควบคุมสถานการณ์ได้
A : ดูจากการทำงานแล้วมีเหตุการณ์ไปเรื่อยอย่างนี้ คือประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลก็ยังนิ่งเฉย ไม่ดูดาย มีการโกงกินกันไปเรื่อยมันก็ลำบาก
Q : มองบทบาทของพล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา ผบ.ทบ.) อย่างไร เพราะที่ผ่านมาการวางตัวของพล.อ.อนุพงษ์ถือว่า “เป็นต่อ” ในทุกสถานการณ์
A : ผมเนี่ยเป็นเพื่อนกับท่านมานาน แล้วก็คิดว่า ท่าน เป็นคนมีความคิดความอ่านดีมาก เพราะฉะนั้นท่านต้องคิด ท่านต้องคิด...ท่านต้องวางตัว เป็นเพื่อนที่มีความคิดความอ่าน มีความจงรักภักดี ถือว่าท่านคงต้องคิดถึงประเทศชาติ
Q : ถ้าจะทำอะไรสักอย่าง
A : อืม
Q : ทั้งที่ท่านเองก็มีกำลังทหารในมือ
A : มีกำลังแล้วอย่างที่ผมเรียนไงว่า ยึดได้แต่ครองเนี่ยลำบาก สมมติว่าปฏิวัติ ท่านจะให้ใครเป็นนายกฯ ให้ใครทำอะไร รัฐบาลจะทำอะไร ประเทศชาติก็ย่ำแย่ เงินก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี แล้วจะทำยังไงให้ประเทศชาติดี นี่ไงยึดคือยึดได้ ครองลำบากไง การครองให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข รัฐบาลจะทำยังไง ใครจะเป็นละนายกฯ ใครจะเป็นรัฐบาลละ รัฐบาลจะทำยังไงต่อไปละ ปฏิวัติตู้ม...ต่างประเทศเขาก็ไม่เอาแล้วทีนึง ปฏิวัติอีกที...ยิ่งหนักไปกันใหญ่ แล้วถ้าเกิดจนกระทั่งประชาชนไม่มีอะไรกิน จะทำยังไง มันต้องคิด ต้องคิด
Q : เท่าที่รู้จักกันมาบุคลิกของพล.อ.อนุพงษ์เป็นอย่างไร
A : ท่านสุขุมรอบคอบพอสมควรนะ เป็นนักรบที่สุขุมรอบคอบ
Q : ถ้ารับคำสั่งหรืออะไรมาปฏิบัติท่านต้องคิดแล้ว
A : ต้องคิด...ผมเชื่อว่าท่านต้องคิด
Q : เท่าที่คุยกันความรู้สึกของพล.อ.อนุพงษ์เป็นอย่างไร
A : คือไม่ได้คุยกันบ่อย เจอกันก็คุยธรรมดา ถามสารทุกข์สุขดิบกันธรรมดา แต่ไม่คุยเรื่องการเมืองกัน เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ เราก็ไม่อยากไปคุยกับท่านในเรื่องการเมืองเพราะจะทำให้ลำบากใจ เจอกันก็ถามสารทุกข์สุขดิบกัน กินเหล้ากัน คุยกัน เจอกันงานเลี้ยงรุ่นก็เป็นธรรมชาติ
Q : บทบาทของพล.อ.อนุพงษ์ที่ผ่านมายังไม่เสีย
A : คือผมเข้าใจท่าน
Q : แม้แต่มีช่วงหนึ่งที่วางบทบาทจนถูกกล่าวหาว่า “เลือกสี”
A : ก็ ใช่ เพราะท่านนี่รู้ไง ผมคิดว่าท่านมีความคิดความอ่านดี ท่านเรียนวปอ. ท่านเป็นคนเขียนยุทธศาสตร์ชาติเอง ท่านมีความรู้ความสามารถ ผมจึงเชื่อไงว่าการทำปฏิวัติไม่ใช่ของง่าย แล้วถ้าให้ท่านเป็นผู้นำท่านคงไม่ทำ
Q : ที่ผ่านมามองว่าวางตัวได้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว
A : ผมว่าวางตัวได้ถูกต้อง กลางๆ แต่คงต้องทำงานกับรัฐบาลแน่ เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาเขา แต่ถ้าให้เขาทำนอกลู่นอกทาง เขาคงต้องคิด
..........................................
สัมภาษณ์โดย "ประสิทธิ์ชัย คำบาง"
ผู้สื่อข่าวไทยอินไซเดอร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น